svasdssvasds

“ข้าวโพดหลังนา”เกษตรกลยุทธ์ ปรับปลูกพืชช่วงน้ำน้อย

“ข้าวโพดหลังนา”เกษตรกลยุทธ์ ปรับปลูกพืชช่วงน้ำน้อย

การทำนาเป็นอาชีพหลักของคนไทยในหลายพื้นที่ แต่ข้าวก็เหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีความไม่แน่นอนสูง “น้ำ ” ปัจจัยการเกษตรที่สำคัญ เป็นเหมือนตัวชี้เป็นชี้ตายว่า ผลผลิตในแปลงนั้น ช่วงเวลานั้น จะได้ผลดีคุ้มกับต้นทุน ที่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ แรงงาน และเวลา ที่ทุ่มลงไปหรือไม่

สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

ดังนั้นการปรับแผนการเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะน้ำน้อยไม่ได้หมายความว่า ไม่มีน้ำ การปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่าง“ข้าวโพด”เป็นการไม่ปล่อยพื้นที่ว่างเปล่าและสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง ขณะเดียวกัน ช่วงที่น้ำมากก็ยังคงแผนการปลูกพืชที่ต้องการน้ำมากอย่างข้าวไว้เป็นรายได้หลัก เป็นเกษตรกลยุทธ์ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างโมเดลการเกษตรใหม่ที่การปรับวิธีการเพาะปลูก ชนิดพืชที่เพาะปลูก ช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม ก็จะสามาระสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้นแบบในการนำร่อง ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงหลังฤดูทำนา มาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาสินค้าตกต่ำ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต”

อุเทน อินเพ็ญ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด เล่าว่า ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องน้ำ คือ น้ำน้อย ฝนไม่ค่อยตก ทำให้แผนการปลูก“ข้าวโพดหลังนา”จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและได้ร่วมโครงการซึ่งพบว่าเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ขณะที่ผลผลิตก็ได้ผลดี ส่วนราคาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เช่นกัน ทำให้กลุ่มเกษตรสนใจเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องทุกปี

สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

บัญชา เมฆนุ้ย ประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ได้รับการประสานจากรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ปลูกข้าวโพดแบบใช้น้ำน้อยคือ ลดปริมาณการทำนาเด้วยการหาพืชทางเลือกให้เกษตรกร จึงทำโครงการที่บ้านหม้อเป็นโมเดล “ข้าวโพดนำร่องหลังนา” เนื้อที่โครงการรวม 2,000ไร่

สำหรับรูปแบบการทำงานของกลุ่มจะมีการให้ความรู้ ปัจจัยการผลิต การส่งเสริมการผลิต การตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งตรงปลายน้ำนี้สำคัญ มีการเข้าไปทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยูกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เป็นการทำการตลาดเตรียมรับไว้ที่ปลายทาง เมื่อข้าวโพดหลังนาออกสู่ตลาด ก็แน่ใจว่า มีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนและจะส่งผลต่อระดับราคาที่เหมาะสมด้วย

สุธี ขันทอง สหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ในโครงการข้าวโพดหลังนานี้ มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 16 แห่ง มีพื้นที่ รวม 11,672 ไร่ เกษตรกร จำนวน 1,035 คน สถาบันการเกษตรที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งหมด 8 สถาบัน วงเงินรวม 22 ล้านบาท ผลผลิตข้าวโพดหลังฤดูกาลทำนารวม 15,000 ตัน สามารถขายทำรายได้ 98 ล้านบาท

“ผลสำเร็จอย่างหนึ่งที่เห็นผลชัดเจนคือ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด จ.อุตรดิตถ์เป็นต้นแบบนำร่องโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ที่พบว่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นๆ”

สำหรับแผนการทำงานที่เน้นให้เกษตรกรเป็นแกนหลักของการทำงาน ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหัวใจสำคัญที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะใช้ผลักดันเพื่อให้การทำงานและโครงการต่างๆสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป