นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตอนนี้เหลือ เตียงว่าง สำหรับรองรับผู้ป่วยได้อีกกว่า 20,000 เตียง จาก อัตราครองเตียง ที่มีอยู่ อัตราครองเตียงทั้งหมดถูกใช้ไปแล้วร้อยละ 20
โดยตามนโยบายจะให้ผู้ป่วยอาการสีแดง และสีเหลืองก่อน ส่วนผู้ป่วยในกรณีสีเขียว คือผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย ไม่มีโรคประจำตัวและอายุน้อยกว่า 75 ปี ให้กักตัวรอดูอาการอยู่ที่บ้าน (home isolation) แทน ซึ่งในวันที่ 4 มกราคม ได้มีการให้คำแนะนำแนวทางการดูแลตัวเองที่บ้านไว้เพิ่มเติม ดังนี้
คำแนะนำการปฏิบัติตัว กรณะผู้ติดเชื้อ COVID-19 กักตัวที่บ้าน
-ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม
-อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา
-หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร
-ไอจาม (กรณีสวมหน้ากากอนามัยอยู่ ไม่ต้องเอามือมาปิดปาก) หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
-ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ
-ให้นมบุตรได้ (กรณีมารดาให้นม)
-ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น
-การทำความสะอาดห้องน้ำและโถสุขภัณฑ์ ด้วยน้ำและ 5 % โซเดียมไฮโปคลอไลด์
-แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
-ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น
-ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่ หรือ ผงซักฟอก
-ทิ้งหน้ากากอนามัยและขยะปนเปื้อนในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง
สำหรับเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล มีดังนี้
- ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะนานกว่า 24 ชั่วโมง
- หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่
- ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
- มีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- สำหรับเด็กหากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารได้น้อย
โดยผู้ที่ไม่สามารถกักตัวในบ้านได้ให้ติดต่อ community isolation หรือ ศูนย์พักคอยชุมชน ซึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ และโรงพยาบาลเลิดสิน ที่มีการเปิดเป็นศูนย์ประสานงานสำรองของกรมการแพทย์
เพิ่ม Spring News
ลงในหน้าจอหลักของคุณ