svasdssvasds

“โออิชิ กรุ๊ป” ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี’65 เติบโตทั้งรายได้และกำไร

“โออิชิ กรุ๊ป” ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี’65 เติบโตทั้งรายได้และกำไร

โออิชิ กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2564-2565 เติบโตทั้งรายได้และผลกำไร พร้อมเดินหน้าด้วย 5 กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลพนักงาน

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ โออิชิ กรุ๊ป

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมานับเป็นการเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ที่ท้าทายท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงอยู่  อย่างไรก็ตาม จากความแข็งแกร่งในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทสามารถสร้างรายได้รวม 2,982 ล้านบาท เติบโตถึง 11.8% โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 1,694 ล้านบาท เติบโต 14.5% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 1,288 ล้านบาท เติบโต 8.5% ขณะที่กำไรสุทธิ 389 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 73.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 

“โออิชิ กรุ๊ป” ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี’65 เติบโตทั้งรายได้และกำไร

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง บริษัทฯ มีการวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

(1)      สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ โออิชิได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ตอบรับเทรนด์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ชาเขียวโออิชิขยายกลุ่มสินค้าไม่มีน้ำตาลและกลุ่มสินค้าที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานมีการสร้างสรรค์เมนูและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใหม่ ๆ เช่นกัน

(2)  สร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดที่แปลกใหม่และแตกต่างเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น: ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ เช่น กิจกรรมของชาเขียวโออิชิ ‘โออิชิ x ดาบพิฆาตอสูร’ นำตัวละครอนิเมะสัญชาติญี่ปุ่นมาปรากฏบน           บรรจุภัณฑ์ โดยมีการออกแบบร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์อนิเมะดาบพิฆาตอสูรประเทศญี่ปุ่น พร้อมสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นของรางวัลและไอเท็มดีไซน์ลิมิเต็ดอิดิชั่นซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโออิชิได้เป็นอย่างดี ส่วนธุรกิจอาหารทำการตลาดในรูปแบบออมนิแชนแนล (Omni-Channel) เชื่อมโยงช่องทางขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด

(3)      นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาพัฒนาสินค้าและบริการที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค: ร้านอาหารมีการพัฒนานวัตกรรมทั้งสินค้าและบริการเพื่อมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัยให้ลูกค้า เช่น ระบบ contactless payment, QR ordering รวมทั้งการนำระบบมาใช้ในการบริหารจัดการภายในทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

(4)      ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทันสมัย ครอบคลุม และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ: ธุรกิจเครื่องดื่มเน้นกลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่และช่องทางขายใหม่ ๆ อย่างช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่ รวมถึงการสื่อสารและการทำตลาดในโลกดิจิทัล ส่วนธุรกิจร้านอาหารเพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้าโดยเปิดแบรนด์ร้านอาหารใหม่ “โออิชิ บิซโทโระ” (OISHI BIZTORO) ด้วยโมเดลไฮบริดภายใต้แนวคิด ‘ทางเลือกความอร่อยง่าย ๆ สไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น’ ที่ผสมผสานระหว่างการให้บริการอาหารประเภทราเมน / และดงบุริหรือข้าวหน้าญี่ปุ่นต่าง ๆ แบบทานง่าย ๆ สะดวก ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ต้องการความสะดวกสบายรวดเร็ว ในราคาคุ้มค่า ตลอดจน Grab & Go ที่มีโมเดลร้านของ “โออิชิ ทู โก” (OISHI to go) เข้ามาเติมเต็มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกของอาหารที่รวดเร็วและสะดวกสบาย รวมถึงโมเดลช่องทางการขายรุกประชิดผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์ “โออิชิ ฟู้ด ทรัค” (OISHI Food Truck) ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานมีการขยายช่องทางการขายให้ครอบคลุมทั้งโมเดิร์น เทรด (Modern Trade) และออนไลน์

(5)      ขยายตลาดส่งออก: ปัจจุบันโออิชิ กรีนที เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา บริษัทเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งและขยายสินค้าในตลาดส่งออกหลัก พร้อมขยายการเติบโตในตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องโดยจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น และใช้การสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานมีการผลักดันตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เกี๊ยวซ่าสู่ประเทศใหม่ ๆ ในยุโรปมากขึ้น

“นอกจากนี้ โออิชิยังดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับหลักความยั่งยืน มุ่งเน้นสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและมุ่งมั่นในการดูแลพนักงาน ที่สำคัญต้องปลดล็อควิธีคิดแบบเดิม ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และทำให้ไว ไปให้เร็ว ทำให้สุด เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจขับเคลื่อน ไปต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กล่าวปิดท้าย