svasdssvasds

ดีป้า ชู ‘HACKaTHAILAND’ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่

ดีป้า ชู ‘HACKaTHAILAND’ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ประกาศผลความสำเร็จกับเมกะโปรเจกต์ ‘HACKaTHAILAND’ โครงการที่สร้างความตระหนักรู้ ยกระดับทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชาชน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 9 แสนคน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 780 ล้านบาท

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า เปิดเผยว่า โปรเจกต์ HACKaTHAILAND ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 

1.การเรียนรู้ผ่านการอบรมในรูปแบบออนไลน์ (HACKaTHAILAND Online Learning Platform)

มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้คนไทย สามารถเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลได้ทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบันมีผู้เข้าเรียนกว่า 10,000 คน ได้ใบรับรองแล้วกว่า 12,000 ใบ สามารถต่อยอดอาชีพผ่านแพลตฟอร์มมากกว่า 20,000 คนโดยหลักสูตร Digital Entrepreneurship, Startup Crash Course และ Web Application Development ได้รับความนิยมจากผู้เรียนสูงที่สุด แสดงให้เห็นว่า คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังปรับตัวและต้องการเสริมสร้างทักษะดิจิทัล ควบคู่ไปกับการเพิ่มองค์ความรู้ด้านธุรกิจ เพื่อนำไปสู่อาชีพใหม่ และทำให้เกิดการจ้างงาน ปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้ายกระดับทักษะของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
 

2.นิทรรศการจัดแสดงผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคต (HACKaTHAILAND Hybrid Exhibition)

ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยตนเอง พร้อมเปิดพื้นที่นำเสนอสินค้า และบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย, พื้นที่แนะนำกลุ่มธุรกิจ Digital Startup, กิจกรรมเพิ่มโอกาสในการหางาน(Job Fest), การแข่งขันโดรน(Drone Competition) และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 150,000 ราย รวมถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์อีกกว่า 800,000 ราย
3.การแข่งขันเพื่อระดมสมองและความคิดค้นหาสุดยอดทีมHackathon (HACKaTHAILAND Competition & Beyond Hackathon)

นำคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียมาร่วมขับเคลื่อน 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่

  • ภาคการเกษตร (Agriculture)
  • ภาคการท่องเที่ยว (Tourism)
  • ภาคการขนส่ง (Industrial and Logistics)

ในระยะเวลา 168 ชั่วโมง (ระหว่างวันที่ 4-10 เม.ย. ที่ผ่านมา) เพื่อคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานภาคเอกชน 

ผลงานทั้งหมดนับเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำพาไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในอนาคต
 

สานต่อซีซั่นสอง ก.ค.นี้
ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวอีกว่าทางดีป้าเตรียมต่อยอดโอกาสสู่การเติบโตไปกับ HACKaTHAILAND ภายใต้แนวคิด Digital Possibilities to SEED Thailand มีกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใช้งานดิจิทัล, กลุ่มดิจิทัลที่ครอบคลุมการทำงานแบบทั่วถึง ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมใช้เทคโนโลยีและสามารถทำธุรกิจทางดิจิทัลได้ และกลุ่มของธุรกิจที่ซบเซาจากเศรษฐกิจทำให้ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจ 
ทั้ง 3 กลุ่มจะเข้ามาร่วมพัฒนาไปพร้อมกับดีป้าในซีซั่นสองในเดือนก.ค. ที่จะถึงนี้ ส่วนรายละเอียดเบื้องต้นมีดังนี้

  1. การทำงานกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งโรงแรมและธุรกิจร้านค้า ในรูปแบบของ Natural แพลตฟอร์ม
  2. นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล (Digital Innovation) สำหรับร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง รวมไปถึงหาบเร่และแผงลอยทั่วประเทศ 
  3. การนำโครงสร้างทางด้าน อินเทอร์เน็ตไร้สายมาปรับใช้ในรูปแบบสมาร์ทโลจิสติกส์กับการขนส่งนักเรียน ให้มีความปลอดภัยในการเดินทาง ผู้ปกครองสามารถติดตามลูกหลานขณะเดินทางไป-กลับโรงเรียนได้

เปิดตัวสุดยอดทีม Hackathon
สำหรับทีมสุดยอดจากรายการ Hackathon รางวัลชนะเลิศ 1,000,000 บาท ได้แก่ ทีม Wang: Data Market (ว่าง : ตลาดข้อมูล) โดยกฤตย์ กังวาลพงศ์พันธุ์ และกฤติน เดชหอมชื่น นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาแพลตฟอร์ม Wang ช่วยเหลือคนว่างงานให้สามารถสร้างรายได้ผ่านการจัดระเบียบข้อมูลด้วยเอไอ 
รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 500,000 บาท ทีม NBP นำโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ชยานนท์ ทรัพย์อาภา ผู้พัฒนา Python, Java สร้างแพลตฟอร์ม FISHYU ช่วยเหลือชาวประมงให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหรือโรงงานโดยตรงลดการรับหัวคิวที่แพง ดูแลเรื่องการขนส่งสินค้า เอกสาร และเครดิตให้กับชาวประมง ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจง่ายขึ้นกว่าเดิม
รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 300,000 บาท ทีม unknow นำโดยภรณี วัฒนโชติ อดีตผู้บริหารบริษัทฟินแก๊ส พัฒนาแอปพลิเคชัน Chef’s Table เป็นตัวกลางนำวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านเพื่อส่งต่อ โปรโมท ทำการตลาดให้เป็นที่รู้จักโดยให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถสร้างอาชีพได้ง่ายๆ จากวัตถุดิบที่มีอยู่มาประกอบอาหารท้องถิ่น ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชิมอาหารพื้นบ้าน และสามารถพูดคุยกับคนในชุมชนนั้นๆ ได้โดยตรง ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน
ส่วนทีมอันดับ 4-10 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท ทั้งนี้ทีมผู้ชนะ 5 อันดับแรกจะเข้าสู่รอบ Investor Pitch ของ depa Digital Startup Fund เปิดโอกาสให้นำเสนอผลงานกับกลุ่มนักลงทุน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อสร้างเครือข่าย และเป็นแนวทางในการต่อยอดธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป