svasdssvasds

เปิด "10 ข่าวปลอม" คนชอบแชร์ซ้ำบ่อย มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์

เปิด "10 ข่าวปลอม" คนชอบแชร์ซ้ำบ่อย มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์

เชื่อได้ว่าทุกวันนี้ ทุกคนจะต้องเห็นข้อมูล ข่าวสารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งข่าวจริง (Fact) ข่าวปลอม (Fake News) หรือเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) รวมถึงบางคนที่ไม่หวังดี ที่สร้างข่าวปลอมออกมาหลอกลวงผู้คน

SHORT CUT

  • ปี พ.ศ. 2564 - 2565 มีข่าวปลอมในประเทศไทยถูกแชร์มากกว่า 20.3 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะข่าวปลอมรวมไปถึงการหลอกลวงให้เกิดความเสียหาย
  • ข้อมูลทั้งจริงและไม่จริง ยากจะตรวจสอบหรือค้นหาต้นตอ อาจมีคนตั้งใจทำเนื้อหาข้อมูลเท็จขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง
  • วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคืออย่ากดลิงก์ อย่าพูดคุยกับผู้ที่ส่งลิงก์มาซึ่งมักจะแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงาน และหากสงสัยให้สอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง

เชื่อได้ว่าทุกวันนี้ ทุกคนจะต้องเห็นข้อมูล ข่าวสารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งข่าวจริง (Fact) ข่าวปลอม (Fake News) หรือเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล (Opinion) รวมถึงบางคนที่ไม่หวังดี ที่สร้างข่าวปลอมออกมาหลอกลวงผู้คน

ในปัจจุบัน คำว่า Fake News จะถูกนิยามในความหมายของคำว่า “ข่าวปลอม” หรือ “ข่าวลวง” ข่าวที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ 

จากงานวิจัยเรื่อง Futures of Mental Health in Thailand 2033 ที่รวบรวมสถานการณ์และสถิติในด้านต่างๆ เช่น การทำงาน ศักยภาพด้านดิจิทัล สถานการณ์ทางจิตของวัยรุ่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ล้วนมีความเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม

พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565 มีข่าวปลอมในประเทศไทยถูกแชร์มากกว่า 20.3 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะข่าวปลอมรวมไปถึงการหลอกลวงให้เกิดความเสียหาย เป็นตัวกระตุ้นความเครียดในรูปแบบใหม่ ซึ่งกรมสุขภาพจิตพยายามตามให้ทัน แต่ก็มักจะมีการพัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอ เนื่องจากผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น
 

เมื่อมีอินเทอร์เน็ต ทุกคนเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้ผลิตข่าวสารข้อมูล เขียนแล้วโพสต์ อ่านแล้วแชร์ต่อ นอกจากจะมีข่าวสารข้อมูลที่เป็นความจริงเป็นประโยชน์เแล้ว ยังมีเนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว โน้มน้าวชักจูง โฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหามุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยก ความเข้าใจผิดต่างๆ ข้อมูลทั้งจริงและไม่จริง ยากจะตรวจสอบหรือค้นหาต้นตอ อาจมีคนตั้งใจทำเนื้อหาข้อมูลเท็จขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง บางคนรับมาแล้วแชร์เนื้อหาผิดๆ นั้นออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

เปิด "10 ข่าวปลอม" ที่คนชอบแชร์วนซ้ำบ่อย 

  • ส่ง SMS แจ้งมิเตอร์ไฟฟ้าเสี่ยงชำรุด คิดค่าไฟเกินจริง ให้ติดต่อเปลี่ยนมิเตอร์ฟรี พร้อมรับเงินคืน - PEA 

ตามที่มีผู้โพสต์ระบุว่า มี SMS จาก กฟภ. ส่ง SMS แจ้งมิเตอร์ไฟฟ้าเสี่ยงชำรุด คิดค่าไฟเกินจริง ให้ติดต่อเปลี่ยนมิเตอร์ฟรี พร้อมรับเงินคืน ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่มีนโยบายในการแนบลิงก์ส่ง SMS เพื่อแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับมิเตอร์ไฟฟ้าชำรุด และให้ติดต่อเพื่อเปลี่ยนฟรี พร้อมรับเงินคืนใด ๆ ทั้งสิ้น

  •  ผู้ใช้ไฟชำระค่าไฟไม่สำเร็จ 2 เดือน จนท.จำเป็นต้องเข้าไปถอดมิเตอร์ หากชำระแล้วกดลิงก์ยื่นหลักฐานที่นี่

กรณีที่มีการส่งต่อ SMS ว่า กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้า ชำระค่าไฟไม่สำเร็จ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปถอดมิเตอร์ หากชำระแล้วให้ยื่นหลักฐานผ่านลิงก์ ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่มีนโยบายแนบลิงก์ไปกับ SMS เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายื่นหลักฐานการชำระค่าไฟผ่านลิงก์แต่อย่างใด ซึ่ง SMS นั้นเป็น SMS ปลอมที่มิจฉาชีพจัดทำขึ้นโดยหวังหลอกลวงประชาชน

 


 

 

  • กฟผ. ชวนลงทุนกองทุนพลังงานหมุนเวียน ผ่าน LINE OA

จากกรณีที่มีผู้ให้ข้อมูลว่า กฟผ. ชวนลงทุนกองทุนพลังงานหมุนเวียน ผ่าน LINE OA ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไลน์ดังกล่าวเป็นของปลอม โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (EGAT) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้มีการดำเนินการในรูปแบบบริษัท และ กฟผ. ไม่มีการชักชวนให้ลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้น 

สำหรับ LINE Official Account ที่เป็นช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้ชื่อว่า EGAT โดยจะมียอดผู้ติดตามกว่า 8 ล้านคน และสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์โล่สีเขียวที่ได้รับรองจาก LINE สำหรับบัญชีขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

  • กรุงไทยปล่อยสินเชื่อบุคคล วงเงิน 50,000-1,000,000 บาท ผ่านเพจสินเชื่อส่วนบุคคล - ธ.กรุงไทย

กรณีที่มีข่าวสารเชิญชวนกู้เงินระบุว่า กรุงไทยปล่อยสินเชื่อบุคคล วงเงิน 50,000-1,000,000 บาท ผ่านเพจสินเชื่อส่วนบุคคล ทางธนาคารกรุงไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ธนาคารกรุงไทยไม่ได้ปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่าน เพจสินเชื่อส่วนบุคคล แต่อย่างใด การกระจายข่าวสารข้างต้นนั้นเชื่อถือไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ

  • ธนาคารออมสิน ให้กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 5,000 – 1,000,000 บาท ผ่อนจ่าย 24 เดือน

จากกรณีโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับธนาคารออมสิน ให้กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 5,000 – 1,000,000 บาท ผ่อนจ่าย 24 เดือน ทางธนาคารออมสิน กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ธนาคารไม่มีเพจเฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าว และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเพจดังกล่าว และทางเพจยังนำโลโก้ตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสินไปใช้ทำสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กู้เงิน และภาพประกอบตารางผ่อนชำระ โลโก้ตราสัญลักษณ์สถาบันการเงินอื่น มีข้อความชักชวนประชาชนใช้บริการสินเชื่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาจส่งผลเสียหายต่อทรัพย์ของประชาชนที่หลงเชื่อ และส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคาร

  • บริษัทหมูออมสิน ปล่อยสินเชื่อ กู้ง่าย อนุมัติไว ผ่านเพจหนู ออมสิน 

จากกรณีมีผู้พบเห็นโฆษณาบริษัทหมูออมสิน ปล่อยสินเชื่อ กู้ง่าย อนุมัติไว ผ่านเพจหนู ออมสิน ทางธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ทางธนาคารไม่มีเพจเฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าว และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเพจหนู ออมสิน เพจดังกล่าวได้ทำการแอบอ้างนำโลโก้ตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสินไปใช้ทำสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กู้เงิน และทำภาพประกอบตารางผ่อนชำระ โดยใช้โลโก้ตราสัญลักษณ์สถาบันการเงินอื่น มีข้อความชักชวนประชาชนใช้บริการสินเชื่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาจส่งผลเสียหายต่อทรัพย์ของประชาชนที่หลงเชื่อ และส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคาร

  • ธอส. ใช้เบอร์ 082-946-4808 โทรสอบถามเลขบัญชี เพื่อโอนเงินให้ 2,000 บาท

จากที่มีการสอบถามเข้ามาที่ศูนย์เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องธนาคารอาคารสงเคราะห์ใช้เบอร์ 082-946-4808 โทรหาลูกค้าเพื่อสอบถามเลขบัญชี และเลขบัตรประชาชน เพื่อโอนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนละ 2,000 บาทนั้น ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าหมายเลขดังกล่าวไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์ของ ธอส. หรือ ผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถติดต่อไปที่หมายเลขดังกล่าวได้แล้ว จึงขอแนะนำให้ประชาชนสอบถามธนาคารต้นเรื่องทุกครั้งก่อนที่จะให้ข้อมูลใด ๆ เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ

  • DLT Smart Queue รับทำใบขับขี่ ปี 2567 จัดส่งทั่วประเทศ

จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กระบุรับทำใบขับขี่ออนไลน์ ปี 2567 นั้น ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เพจที่ดำเนินการโดยกรมขนส่ง และไม่ได้เป็นเพจของกรมการขนส่งทางบกแต่อย่างใด ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตขับรถทุกชนิดมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คือ ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถต้องดำเนินการด้วยตนเองทุกขั้นตอนที่สำนักงานขนส่ง ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสาร การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน การทดสอบขับรถ และการถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ

หากพบเห็นการโฆษณารับทำใบอนุญาตขับรถโดยไม่ต้องมีขั้นตอนการอบรมหรือทดสอบ ขอให้สันนิษฐานว่า เป็นมิจฉาชีพ และอย่าหลงเชื่อโอนเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพโดยเด็ดขาด

  • ไปรษณีย์ไทยเปิดรับสมัครงานเสริมไปรษณีย์ รายได้ 543-17,000 บาท

กรณีที่มีการส่งต่อข่าวสารว่า ไปรษณีย์ไทยเปิดรับสมัครงานเสริมไปรษณีย์ รายได้ 543-17,000 บาท ทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข่าวรับสมัครงานข้างต้นไม่เป็นความจริง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของมิจฉาชีพที่หวังหลอกลวงประชาชน

ทั้งนี้ หากมีการประกาศรับสมัครงานหรือมีตำแหน่งว่าง จะมีการประกาศทางเพจหลัก https://www.facebook.com/thailandpost.co.th และเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th ของไปรษณีย์ไทยเท่านั้น

  • คุณได้รับเงินชดเชยระหว่างว่างงาน ตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 2,000 บาท เป็นรายชื่อตกหล่น ให้ยืนยันสิทธิ์ย้อนหลัง

จากกรณีที่มีการโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียโดยระบุว่ากรมการจัดหางานจ่ายเงินชดเชยระหว่างว่างงาน จากตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 2,000 บาท เป็นรายชื่อตกหล่น ให้ยืนยันสิทธิ์ย้อนหลัง พร้อมแนบลิงก์ให้กดเข้าไป

กรมการจัดหางานขอยืนยันว่า กรมฯไม่มีนโยบายส่ง SMS แจ้งให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานดำเนินการติดต่อเพื่อขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานผ่านช่องทางไลน์

จุดสังเกต SMS ที่ส่งจากมิจฉาชีพ

  • มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) พร้อมแนบลิ้งก์สวมรอยช่องทางปกติในการส่งข้อความจากธนาคาร และใช้ชื่อไลน์คล้ายกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงาน
  • มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) ขณะขับรถไปตามเส้นทางต่างๆ แสดงว่าทุกคน ทุกอาชีพมีโอกาสได้รับข้อความสั้น (SMS) และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
  • พนักงานธนาคาร ไม่ใช้ไลน์ส่วนตัวในการติดต่อลูกค้า
  • เว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพให้กดโหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์นั้น สามารถกดได้ เฉพาะเมนูดาวน์โหลด เมนูอื่นๆ เมื่อกดแล้วจะไม่ขึ้นข้อมูลใดๆ
  • ธนาคารไม่มีนโยบายการส่งข้อความ SMS แบบแนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอดไลน์ไอดี หรือเพิ่มเพื่อนในไลน์

วิธีป้องกัน SMS จากมิจฉาชีพ

  • ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิ้งก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง
  • กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับ สายด่วนของธนาคาร หรือหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
  • หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น
  • มิจฉาชีพอาจใช้วิธีการหลอกลวงในรูปแบบให้สแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จึงไม่ควรสแกนหรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคืออย่ากดลิงก์ อย่าพูดคุยกับผู้ที่ส่งลิงก์มาซึ่งมักจะแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงาน และหากสงสัยให้สอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง ทั้งนี้ โดยปกติหน่วยงานต่างๆ จะไม่มีการโทรศัพท์ หรือติดต่อผ่านระบบออนไลน์ไปยังประชาชนโดยตรง แต่จะส่งเอกสารไปที่บ้านหรือที่พักเท่านั้น

หลายคนสงสัยว่าทำไมมิจฉาชีพเหล่านี้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเรา ทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์มือถือ ซึ่งทำให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐจริงๆ เป็นเพราะการใช้สื่อโซเชียลต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งมีการระบุข้อมูลส่วนตัวของเรา และการสั่งสินค้าออนไลน์ซึ่งมีการแจ้งชื่อ ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อของผู้รับสินค้า ไม่ว่าเป็นการสั่งซื้อผ่านแอปขายสินค้า หรือสั่งซื้อกับผู้ขายโดยตรง ซึ่งทั้งผู้ที่อยู่ในกระบวนการรับออเดอร์และจัดส่งสินค้าทั้งหมดย่อมเห็นข้อมูลของเรา จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related