svasdssvasds

ฝ่ายความมั่นคง เผย "ส่วยช่วยชาติ" ไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อหวังดิสเครดิตรัฐ

ฝ่ายความมั่นคง เผย "ส่วยช่วยชาติ" ไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อหวังดิสเครดิตรัฐ

หน่วยความมั่นคง โต้ "ส่วยช่วยชาติ" หรือ "ส่วยพัฒนาชาติ" ไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อเป็นความพยายามดิสเครดิตโครงการของรัฐ ในการปัญหาชายแดนใต้ พร้อมยินดีรับฟัง และให้การเคารพในทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุง

วันที่ 3 มิ.ย. 2566 พ.อ.เกียรติศักดิ์ มณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงกรณีกระแสข่าวสื่อโซเชียล ปรากฏว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการแฉ "ส่วย" อีกประเภทหนึ่ง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ส่วยช่วยชาติ” หรือ “ส่วยร่วมพัฒนาชาติ” จากกรณีโครงการพาคนกลับบ้าน ว่า มีกลุ่มหน่วยงานรัฐบางหน่วยเรียกรับผลประโยชน์ หักหัวคิว ในโครงการดังกล่าวนั้น จากการตรวจสอบปรากฏว่า หน่วยงาน เจ้าหน้าที่กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้มีการชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวแล้ว

โดยยืนยันว่า "โครงการนี้ไม่มีการบังคับ ฉะนั้นจึงไม่มีเรื่องหัวคิว หรือการขู่เข็ญ" กระบวนการ คือคนที่อยากเข้าร่วมโครงการจะมาติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งมาติดต่อด้วยตนเองโดยตรง กับอีกกรณีคือคนที่อยากเข้าโครงการ รู้จักกับคนที่อยู่ในโครงการแล้ว และขอเข้าร่วมโครงการ เพราะเบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ต้องหนี ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็อยากออกมา ใช้ชีวิตตามปกติ ยืนยันว่าไม่มีบังคับ และไม่มีผลประโยชน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ขณะที่ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง มทภ.4 ระบุว่า โครงการนี้ โดยหลักการเป็นการเปิดโอกาสให้ “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง และสมัครใจเข้ารายงานตัวแสดงตน” ได้แสดงตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ หากไม่มีหมายจับ หรือสิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมายแล้ว ก็จะเตรียมความพร้อมก่อนกลับคืนสู่สังคม เช่น การฝึกอาชีพเสริม เป็นต้น 

ยืนยันว่าไม่มีการบังคับ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีหัวคิวใด ๆ ทั้งสิ้น กรณีนี้ มีความเป็นไปได้ ที่กลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มขบวนการ พยายามดิสเครดิตโครงการนี้ เพราะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีแนวร่วม ออกมาแสดงตัวกับรัฐจำนวนมาก ทำให้กลุ่มขบวนการสูญเสียกำลังคน จนทำให้โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง  กลุ่มขบวนการอ่อนแอลง 

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 เคยมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ได้เสนอข้อมูลข่าวสารโจมตีการดำเนิน โครงการพาคนกลับบ้าน ว่าเป็นการสร้างภาพ พาโจรกลับบ้าน, ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย , มอบบ้านให้ , มอบที่ดินทำกิน และจ่ายเงินตอบแทนให้รายละ 1,000,000 บาท เป็นต้น ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง มาแล้ว 

ฝ่ายความมั่นคง เผย "ส่วยช่วยชาติ" ไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อหวังดิสเครดิตรัฐ

ดังนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอสร้างความเข้าใจ ต่อ โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง เข้ามาต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี ด้วยการเข้ารายงานตัวแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินกรรมวิธีตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ 

เช่น การฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดความเชื่อ ให้เป็นไปตามหลักคำสอนที่ถูกต้อง ของศาสนาอิสลาม , การอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม , การฝึกอบรมวิชาชีพ, การสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย ในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม, และการพบปะพัฒนาสัมพันธ์โดยเจ้าหน้าที่และชมรมพาคนกลับบ้าน การดำเนินการที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับจากพี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง และผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ต้องการยุติบทบาท และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง 

ด้วยการออกมารายงานตัวเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,427 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในประเทศ จำนวน 5,305 ราย (ปี 2555 – 2559 จำนวน 4,403 ราย, ปี 2560 จำนวน 127 ราย และปี 2561 จำนวน 775 ราย) โดยทั้งหมดจะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ก่อนกลับไปไปใช้ชีวิตตามปกติในภูมิลำเนา สำหรับผู้ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่มีการละเว้น รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย, ที่ดินทำกินและค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อจูงใจ ให้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด 

ขณะที่ กลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 122 ราย เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐและหวาดระแวง ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ที่สำคัญ คือ การตรวจพิสูจน์สัญชาติ และตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำความผิด ก่อนเข้าร่วมโครงการ, การฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนส่งกลับภูมิลาเนา 

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ อาจจำเป็นต้องจัดสร้างศูนย์พักพิง และที่ดินทำกินให้เข้าพักอาศัยเป็นส่วนรวม ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดให้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ ในอดีต สำหรับ ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนิน โครงการพาคนกลับบ้าน ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถลดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากการใช้ความรุนแรงแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะ OIC เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหา ตามแนวทางสันติวิธี ที่ไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ มีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ดังนั้น จึงขอความร่วมมือ ให้เสนอข้อมูลข่าวสารและแสดง ความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง ไม่บิดเบือนหรือหวังผลประโยชน์อื่นแอบแฝง เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยประการใด ขอให้สอบถามกับหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ได้ตลอดเวลา 

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยินดีรับฟัง และให้การเคารพในทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เพื่อนามาใช้ในการปรับปรุง แนวทางแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

related