svasdssvasds

มหากาพย์ 33 ปี 'โฮปเวลล์' ใกล้จบ ไทยอาจชนะคดี ไม่ต้องจ่าย ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

มหากาพย์ 33 ปี 'โฮปเวลล์' ใกล้จบ ไทยอาจชนะคดี ไม่ต้องจ่าย ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

มหากาพย์ 33 ปี ใกล้จบ ไทยมีลุ้นไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาตตุลาการ หลังรับพิจารณาคดีใหม่ ชี้โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีหลังพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

โครงการ “โฮปเวลล์” 

โครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง โดยบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ เป็นผู้ชนะการประมูล ลงนามสัญญากับรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 

โดยโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี แผนงานการก่อสร้าง เป็น 5 ระยะ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และมักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร

โครงการ “โฮปเวลล์”   

อย่างไรก็ตามสัญญากำหนดให้ผู้ลงทุนบอกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ และในสัญญาไม่ได้ระบุว่า โครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้ โฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

ต่อมารัฐบาลได้มีมติบอกยกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 หลังบริษัทหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้นโครงการต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และวันที่ 20 มกราคม 2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเลิกสัญญา หลังก่อสร้าง 7 ปี คืบหน้า 13.7% จากแผนงานที่ควรจะมีความคืบหน้า 89.75% โดยให้โครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

โครงการ “โฮปเวลล์” 

โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้บริษัท 

แต่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เดินหน้าสู้คดี นำมาสู่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้รับพิจารณาคดีใหม่ และศาลได้สั่งให้งดบังคับคดี ทำให้ยังไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและดอกเบี้ย

โฮปเวลล์ยื่นคำร้องต่อศาลล่าช้ากว่ากำหนด

ทั้งนี้บริษัท โฮปเวลล์ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 สิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย”

และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 จึงเป็นกรณีที่ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอน และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

นอกจากนี้กรณีของผู้ร้องทั้งสอง รู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และครบกำหนดห้าปีในวันที่ 27 ม.ค.2546 การที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ขอให้มีคำชี้ขาด และบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวที่ศาลปกครองมีอำนาจ เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน 

โครงการ “โฮปเวลล์” 

ศาลปกครองศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่สั่งให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศ ไทย) จำกัด

ล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221 – 223/2562 ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาด ให้แล้วเสร็จภายใน 280 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ต่อมาผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง

ให้รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีของผู้ร้องทั้งสองต่อไป เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด

โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุด ใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221 – 223/2562 ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม แต่มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ในคดีนี้ นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นมาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related