svasdssvasds

"หมอกฤตไท" เพจสู้ดิวะ อัปเดตอาการป่วยมะเร็งปอด เผยอาจอยู่ได้อีกไม่นาน

"หมอกฤตไท" เพจสู้ดิวะ อัปเดตอาการป่วยมะเร็งปอด เผยอาจอยู่ได้อีกไม่นาน

หมอกฤตไท เจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" อัปเดตอาการป่วยมะเร็งปอดล่าสุด เผยคงอยู่ได้อีกไม่นาน น่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า บอกจากนั้นไว้เจอกันใหม่ หลังเพิ่งแต่งงานได้ไม่นาน แพทย์เตือนโรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก

หลังจากที่ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ชีวิตที่เจ้าตัวนั้นตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ชีวิตกำลังไปได้ดีมีงานการมั่นคง โดยที่เจ้าตัวเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารคลีน และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ก็ยังตรวจพบมะเร็งปอดระยะสุดท้าย 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา หมอกฤตไท ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า "ผมคง อยู่ได้อีกไม่นานแล้วครับ ใครมีอะไรอยากพูดอยากบอกผม เชิญได้เลยครับ ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า จากนั้นไว้เจอกันใหม่นะครับ ณ ตอนนี้ผมพิมพ์ได้เท่านี้ก็เอาละครับ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดช่วงที่ผ่านมาครับ ขอโทษถ้าผมทำให้ใครไม่พอใจ

หลังจากโพสต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปชาวโซเชียลที่ติดตามเพจ สู้ดิวะ ได้เข้ามาร่วมส่งกำลังใจหมอหนุ่มผ่านการกดไลค์กว่า 1.3 แสนครั้ง และคอมเมนต์ให้กำลังใจกว่า 300 ข้อความ เช่น

  • ขอบคุณที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมายครับ ขอให้จิตของน้องสุขสงบ เป็นอิสระจากความทุกข์ทางกายนะครับ
  • ยินดีมากๆ ที่ได้เป็นรุ่นน้องพี่ไท ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเห็นภาพว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหนเสมอๆครับ รับรู้ถึงพลังบวกที่พี่ได้ส่งต่อให้คนรอบข้างในทุกรูปแบบ เป็นกำลังใจให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะครับผม
  • ไทเป็นคนที่เจ๋งมาก และมีความคิดที่บวกมาก
  • ตอนที่ได้คุยกันได้ข้อคิดอะไรเยอะมากๆเลย

หลังจากนั้น หมอกฤตไท ก็ได้โพสต์อีกว่า "ผมคงไม่ได้ไปดู NBA ผมคงไม่ทันได้เข้าไปอยู่ในบ้าน คงไม่ทันได้เจอพี่เพียวอีก จากนี้ฝากบ้าน ฝากพีม ฝากครอบครัวด้วยนะครับ ขอบคุณจากใจให้กับทุกคนที่ช่วยดูแลด้วยครับ"

ด้านเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ ได้โพสต์ภาพและคลิปงานแต่งงานของตัวเอง พร้อมเขียนแคปชั่นว่า

กว่าจะถึงวันนี้…สู้

เวลาคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าสองคนนี้รักกันแค่ไหน

ลูกจ๋า เวลาคือสิ่งสำคัญ เป็นเวลาที่จะได้ใช้ร่วมกัน

และคนทั้งสองก็ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างดีที่สุด

โดยเพจ The Happy Moment : A happy wedding planner in Chiang Mai ได้โพสต์แคปชั่นงานแต่งของหมอกฤตไท ว่า 

“ปัจจุบันดีที่สุดแล้ว - อยู่กับปัจจุบัน - โมเม้นนี้ – พีมกับพี่ไทมีวันนี้วันเดียว - ทุกคนก็มีวันเดียว อยากให้แฮปปี้กับ ณ โมเม้นปัจจุบัน”

บรีฟที่น่ารักมากจากน้องพีมและน้องไทแห่งเพจ สู้ดิวะ

สำหรับเราคำว่า present ของพีมและไท ไม่ได้หมายถึงแค่วันนี้ ตอนนี้ เวลานี้ แต่ยังเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่อยากเติมความสุขให้กัน จนกลายมาเป็นประโยคพิเศษในงาน

“leave your previous moment, enjoy the precious present”

เพราะทุกคนคือของขวัญคนสำคัญของน้องๆ ในวันนี้ และเราเชื่อว่ามีอีกหลายคนรอบตัวที่น้องๆ ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

ออร่าความสุขที่ส่งต่อให้กันในงาน เป็นคำตอบได้อย่างดีถึง “present” ที่น้องๆ มีทุกคนรอบข้างและมีกันและกัน

ขอบคุณ attitude ดีๆ พลังบวกที่น้องๆ แชร์ มันทำให้เรามองความสุขและความรักรอบตัวในมุมที่สวยงาม

กรมการแพทย์ ได้เตือนว่า โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก

  • สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง
  • แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรก มักจะไม่มีอาการแต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมากส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย

โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น

  • อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน
  • ไอมีเสมหะปนเลือด
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ
  • เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ทั้งนี้ในปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

ที่มา : Krittai Tanasombatkul  , สู้ดิวะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related