svasdssvasds

จับตา "ประภัตร โพธสุธน" คดีหมูเถื่อน? หลัง ปชป. โบ้ยคุมปศุสัตว์

จับตา "ประภัตร โพธสุธน" คดีหมูเถื่อน? หลัง ปชป. โบ้ยคุมปศุสัตว์

หลังดีเอสไอปูด อดีตรัฐมนตรี “ป” เอี่ยวคดีหมูเถื่อน ทำให้คาดเดากันไปต่างๆ นานา จนกระดอนไปโดน "เฉลิมชัย ศรีอ่อน' อดีต รมว.เกษตรฯ ต้องออกมาแถลงข่าวปัดเอี่ยวคดีฉาว โยนเผือกร้อนไปที่อดีต รมช. กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ "ประภัตร โพธสุธน" ต้องจับตาว่าเจ้าตัวจะออกมาตอบโต้อย่างไร

นายประภัตร โพธสุธน มีชื่อเล่นว่า "เบิร์ด" เกิดวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2492 เป็นชาวอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยกำเนิด สถานภาพปัจจุบันยังโสด นายประภัตรชื่นชอบในการอนุรักษ์วิถีชีวิตความเป็นไทย บ้านพักส่วนตัวที่อำเภอศรีประจันต์ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมชาวนาไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี คือ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย

ประวัติการศึกษา "ประภัตร โพธสุธน"

  • จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากประเทศอินเดีย
  • ระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติการเมือง "ประภัตร โพธสุธน"

  • ปี 2518 ประภัตร โพธสุธน ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีครั้งแรก สังกัดพรรคชาติไทย
  • ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุพรรณบุรีต่อเนื่อง 11 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2544
  • ปี 2548 จึงย้ายไปลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 12
  • ปี 2550 ลงสมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 13
  • แต่ในปี พ.ศ. 2551 เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551
  • ปี 2562 กลับเข้าสู่งานการเมืองอีกครั้ง แต่เกิดความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งระหว่างเขากับ จองชัย เที่ยงธรรม ในที่สุดนายจองชัย จึงย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทย แข่งขันกับนายประภัตร ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายประภัตร โพธสุธน ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 14
  • ปี 2566 เขาก็ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 15

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี "ประภัตร โพธสุธน" 

  • ปี 2529 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
  • ปี 2535 ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร
  • ปี 2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • ปี 2540 ได้เป็นรัฐมนตรีอีกสมัยในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ปี 2543 ปรับตำแหน่งมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ปี 2562 หลังจากเว้นว่างจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปนานกว่า 19 ปี เขาได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2562 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

สส.รัฐบาลเพียง 1 เดียวที่โหวตสวนมติ

ทั้งนี้สำหรับการลงมติร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ ในวาระรับหลักการมี ผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียงและงดออกเสียง 4 เสียงนั้น พบว่าสส. ฝ่ายรัฐบาล จำแนกตามพรรค ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย ลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 137 คน คือเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ มีคนที่ไม่ลงคะแนน 3 คน คือ นายอดิศร เพียงเกษ นายสุชาติ ตันเจริญ และ พลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี มีผู้งดออกเสียง 1 คือ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง

ขณะที่ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ลงมติ “เห็นด้วย” ยกเว้น นายประภัตร โพธสุธน สส.สุพรรณบุรี ลงมติ “งดออกเสียง”

ปัญหา "หมูเถื่อน" ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ

สำหรับประเด็นเรื่อง "หมูเถื่อน" ที่กำลังลุกลามบานปลายไปยังตัวละครทางการเมืองกำลังเข้มข้น หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สั่งให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเด็ดขาด

กลุ่มตัวละครที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  1. อดีตรัฐมนตรี ป.
  2. กลุ่มทุนนำเข้าหมูเถื่อน
  3. กลุ่มกระจายหมูเถื่อน
  4. กลุ่มชิปปิ้ง

ในส่วนของอดีตรัฐมนตรี “ป.” คือตัวละครสำคัญที่อยู่หลังฉาก ชื่อเสียงกระฉ่อนมาหลายยุคหลายรัฐบาล

ล่าสุดวันที่ 16 ม.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวชี้แจงหลังจากที่ นายสมเกียรติ กอไพศาล เลขานุการส่วนตัว ถูกจับในคดีลอบค้าซากสัตว์เถื่อน ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีขบวนการสร้างประเด็นเพื่อโยงถึงตนขณะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องหมูเถื่อนและไก่เถื่อน ซึ่งมั่นใจว่ากรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากผลทางการเมือง มีการดำเนินการต่อเนื่องและอาจทำให้สังคมไขว้เขว เข้าใจผิดว่าตนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฃ

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า วันที่ตนเข้าเป็น รมว.เกษตรฯ ได้มอบอำนาจเต็มให้กับ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ มีอำนาจหน้าที่สั่งการ อนุญาต อนุมัติ กำกับดูแล หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ปฏิบัติราชการแทน โดยให้กำกับดูแลกรมปศุสัตว์เช่นเดียวกัน

ส่วนกรณีหมูที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เป็นช่วงที่มีการระบาดโรคอหิวาต์หมู โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับรัฐบาล มีการตั้งคณะกรรมการ โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลเป็นประธาน แต่ นายจุรินทร์ ได้มอบให้ตนดูแลแก้ปัญหา ซึ่งตนไม่สามารถมอบหมายให้คนอื่นแทนได้ จึงเป็นประธานต่อเนื่องจนกระทั่งมีข่าวหมูเถื่อน ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป โดยได้กำชับให้ใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เราสามารถจับและทำลายหมูเถื่อนได้ถึง 1.7 ล้านกิโลกรัม

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวระบุโดนการเมืองเล่นงานคดีหมูเถื่อน พร้อมยืนยันว่ามอบหมายนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตร กำกับดูแลงานกรมปศุสัตว์ ว่า กรณีอดีตรมว.เกษตรฯ ระบุเรื่องการแบ่งงานให้รมช.เกษตรแต่ละคนอย่างไรบ้าง โดยมีการระบุถึงนายประภัตร โพธสุธน อดีตรมช.เกษตรในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ตามที่มีเอกสารระบุถึงเรื่องการแบ่งงานของครม.ชุดที่แล้วจริง

ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานนั้นในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะมีการพูดคุย นำเอางานของรัฐมนตรีแต่ละคนในส่วนของพรรคมาพูดคุยให้กับสมาชิกพรรคฟังอยู่ตลอด ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาทางพรรคยังไม่ได้รับรายงานต่อกรณีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในขณะนี้แต่อย่างใด

หากพูดถึงเรื่องการสอบสวนก็เป็นหน้าที่ในส่วนของกระทรวงเกษตรที่จะไปสอบสวนกันว่ามีการดำเนินการอย่างไร เพราะเอกสารสามารถตรวจสอบย้อนไปได้อยู่แล้ว เชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเมือง หรือประเด็นระหว่างพรรคต่อพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาเราทำงานด้วยกันมาโดยตลอด ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคิดว่าทางกระทรวงเกษตรต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกันภายใน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related