svasdssvasds

"โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง" คืออะไร ภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

"โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง" คืออะไร ภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา ล่าสุดคร่าชีวิต เคนเน็ธ มิตเชลล์ ดาราดังฮอลลีวูด

SHORT CUT

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง
  • ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้เพียงแต่รักษาไปตามอาการ และใช้ยาเพื่อชะลอการดำเนินของโรคเท่านั้น
  • โรคนี้ไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันได้ 100 % แต่สามารถให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา ล่าสุดคร่าชีวิต เคนเน็ธ มิตเชลล์ ดาราดังฮอลลีวูด

ถือเป็นข่าวเศร้าของวงการฮอลลีวูด เมื่อนักแสดงชื่อดัง เคนเน็ธ มิตเชลล์ นักแสดงจากเรื่อง สตาร์เทร็ก และกัปตันมาร์เวล เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยวัยเพียง 49 ปี ด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) ที่เจ้าตัวรักษามานานกว่า 5 ปี

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คืออะไร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง แล้วส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเราไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรค ALS พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อายุเฉลี่ยที่เกิดขึ้นของโรคอยู่ระหว่าง 60-65 ปี ดังนั้น โอกาสที่จะพบโรค ALS ในคนอายุมากจึงมีมากกว่าในคนอายุน้อย โดยทั่วไปแล้วมักพบโรค ALS ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 1.5 เท่า แต่มีโอกาสเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดโรคในรุ่นลูกรุ่นหลาน

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยอาจเริ่มจากที่มือ เท้า หรือแขน จากนั้นจะค่อยๆ ลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อแขน ทำให้แขนไม่มีแรง กำมือไม่ได้ข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นแขนจะเริ่มลีบลง แล้วจะลามไปยังแขนอีกข้างหนึ่ง
  • รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง อาจเกิดอาการกระตุก รวมทั้งบริเวณแขน ไหล่ และลิ้นอาจมีอาการแข็งเกร็ง ทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ บางรายอาจมีอาการหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้
  • ไม่สามารถควบคุมกระบังลมได้จึงทำให้หายใจไม่สะดวก                 

อาการ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นจนลามไปทั้ง 2 ข้าง แต่ในบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนหรือขาทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ต้น นอกจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วยังพบว่ามีกล้ามเนื้อลีบร่วมกับกล้ามเนื้อเต้นที่เรียกว่า fasciculation ร่วมด้วย

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ความน่ากลัวของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คือผู้ป่วยจะยังคงทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตต่างๆ ได้เป็นปกติในช่วงแรกๆ ของวัน แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยได้หยุดพักหรือหยุดใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นไปชั่วขณะ ก็สามารถฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานตามปกติได้อีกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้หากผู้ป่วยไม่ปล่อยให้อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นซ้ำๆ แบบเรื้อรัง เพราะความรุนแรงของโรคยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น

  • ภาวะหัวใจล้มเหลวจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ 
  • ความเสี่ยงต่อการสำลัก จากความผิดปกติของกล้ามเนื้อลำคอ
  • ความเสี่ยงต่อโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง (SLE)

สาเหตุการเสียชีวิตของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ส่วนมากมาจากภาวะแทรกซ้อน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะเสียชีวิตหลังจากมีอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ในระยะเวลาประมาณ 2.5 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อ แผลกดทับ หายใจไม่ได้ ระบบหายใจล้มเหลว และการติดเชื้อในปอดอันเนื่องมาจากการสำลัก

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีวิธีการรักษาหายหรือไม่

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้เพียงแต่รักษาไปตามอาการ และใช้ยาเพื่อชะลอการดำเนินของโรคเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายหลังจากแสดงอาการประมาณ 2-3 ปี แต่บางรายหากครอบครัว และคนใกล้ชิดให้ความใส่ใจ และดูแลผู้ป่วยทั้งทางกาย และทางใจอาจทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานเป็น 10 ปี

ดังนั้นการให้กำลังใจ และคอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วย แม้เราจะรู้อยู่แล้วว่าปลายทางอาจจะดูมืดมน เพราะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่การให้กำลังใจก็เปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยจุดประกายให้คนๆ นั้นเดินทางต่อไปได้ เชื่อว่าหากจิตใจของผู้ป่วยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจะทำให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้นตามไปด้วย

วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โรคนี้ไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีป้องกันได้ 100 % แต่สามารถให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารเคมี หรือรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นโรคที่พบผู้ป่วยในจำนวนน้อย ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่มีการรักษาให้หายขาด จึงเป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัว การดูแลสุขภาพตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาที่ไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คร่าชีวิตคนดัง

  • สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ผู้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วงในกรอบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และการทำนายเชิงทฤษฎีที่ว่าหลุมดำมีการปล่อยรังสีออกมา และเจ้าของหนังสือขายดี A Brief History of Time หรือประวัติย่อของกาลเวลา สตีเฟน เกิดในปี 1942 และถูกวินิจฉัยว่าเป็น โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (Motor Neuron Disease) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ในวัย 22 ปี และต่อสู้กับโรคนี้มานานถึง 50 ปี ก่อนจะเสียชีวิตลงตอนอายุ 76 ปี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2018
  • แม่ทุม-ปทุมวดี เค้ามูลคดี นักแสดงหญิงคู่ชีวิต พ่อรอง เค้ามูลคดี ที่เสียชีวิตลงด้วยวัย 72 ปี หลังสู้อาการป่วย ALS และไทรอยด์เป็นพิษ นานกว่า 8 ปี เป็นโรค ALS จนรักษาตัวในห้องไอซียูด้วยอาการวิกฤตมาโดยตลอดก่อนเสียชีวิตลงในที่สุด
  • ร.ต.ศักดริน ทองมี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดประวัติศาสตร์ปรีโอลิมปิก อดีตแข้งช้างศึกชุดปรีโอลิมปิก เจ้าของฉายา "คีแกนเมืองไทย" เสียชีวิต หลังรักษาตัวมานาน 4 ปี ด้วยภาวะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related