svasdssvasds

ศาลรธน. ตีตกคำร้องรัฐสภาขอวินิจฉัยต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง

ศาลรธน. ตีตกคำร้องรัฐสภาขอวินิจฉัยต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้องรัฐสภา ขอให้ศาลวินิจฉัยการทำประชามติกี่ครั้ง เกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แจง เคยวินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนไปแล้ว และไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของประธานรัฐสภา ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยอ้างอิงถึงรัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ 

และในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การ จัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ได้หรือไม่จะต้องกระทำในขั้นตอนใด

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณาพิจารณา  ด้วยศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ที่เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้นการบรรจุระเบียบวาระประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเป็น หน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อ 119 กรณีนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา โดยคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัยและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว จึงไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้วจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามกฏหมาย

 

ทั้งนี้ก่อนการพิจารณา มีตุลาการศาล 2 คน ไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วยคือนายสุเมธ รอยเจริญ โดยอยู่ระหว่างการเข้าเฝ้าทุนละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ และนายอุดม รัฐอมฤต ที่ขอถอนตัวจากการพิจารณาตามกฏหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลที่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลที่ 4/2564 และการประชุมของตุลาการศาลในวันนี้ องค์ประชุมเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 7 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related