SHORT CUT
ประชาชนซอยปรีดีพนมยงค์ 26 ร่วมติดป้าย - ยื่นแสดงความเห็น คัดค้านการขยายถนนตามร่างผังเมืองใหม่ ทะลุออกพัฒนาการ 20 หวั่นกระทบพื้นที่ชุมชนผู้อยู่อาศัย-สร้างมลภาวะ-เอื้อนายทุน
จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำและวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ แต่มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่รวมถึงการคัดค้านจากสภาผู้บริโภคและหน่วยงานอื่น ๆ จนทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศขยายเวลาการรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นั้น
ได้มีกระแสข่าวว่า ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 ถนนสุขุมวิท 71 ผู้ได้รับผลกระทบจากการขยายถนน ก 30 ได้ออกมาติดป้ายแสดงความเห็นคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการขยายเขตทางถนนในพื้นที่เป็นระยะ 12 เมตร โดยมีป้ายข้อความว่า “บ้านนี้ไม่เอาขยายเลน 2 เลนกลายเป็น 4 เลน เพื่อเป็นทางผ่าน ใครได้ผลประโยชน์? บ้านประชาชนถูกกระทบ รถจะติด มลภาวะทางอากาศ มลภาวะทางเสียง หมู่บ้านที่สงบกลายเป็นทางผ่าน” ทั้งนี้ป้ายดังกล่าวยังได้มีการเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ให้เข้าร่วมกลุ่มไลน์ Open Chat ‘ประชาชนซอยปรีดี 26’ เพื่อร่วมคัดค้าน เนื่องจากการขยายถนนดังกล่าวจะกระทบผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยชาวบ้านหลายคนเกรงว่าจะต้องเวนคืนที่ดินส่วนที่ติดกับพื้นที่ถนน กระทบเข้าไปยังพื้นที่รั้วบ้านและประชากรกว่าหลักพันคน รวมถึงอาจจะทำให้เกิดการเอื้อนายทุนมีคอนโดและตึกสูงตามมา พบร้านกาแฟโปรดชัชชาติอยู่ในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้เสริมว่ากทม. และหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ไร้วี่แววการทำประชาพิจารณ์ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้กำหนดอนาคตร่วมกัน ขณะที่ผู้อยู่อาศัยหลายท่านยังประกาศว่าทางการไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เจ้าบ้านผู้ได้รับผลกระทบบางรายเพิ่งได้รับทราบข่าวทั้งที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นใกล้สิ้นสุดลงแล้วและอยู่ในช่วงขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ประชาชนผู้อยู่อาศัยประกาศว่าจะมีการรวบรวมความคิดเห็นคัดค้านไปยื่นต่อสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครฯ ภายในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
อ้างอิงจากเว็บไซต์สภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ทางสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ สภาองค์กรชุมชนคลองเตย เครือข่ายผู้บริโภค 50 เขต รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 28 องค์กร/ชุมชน ได้มีการร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ยุติกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการร่างผังเมืองดังกล่าวภายใน 30 วัน
ขณะนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา จะเข้าร่วมขบวนการยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยหากภายหลังกระบวนการแสดงความคิดเห็นยังมีการดำเนินการผลักดันร่างผังเมืองฉบับนี้ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการร่นและเวนคืนพื้นที่ถนนก็จะประท้วงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปในทุกช่องทาง
อ้างอิงจากแผนร่างการปรับเปลี่ยนในแผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง สำหรับถนนสาย ก 30 สุขุมวิท 71 (ปรีดีพนมยงค์) - พัฒนาการ 20 (ข 51 เดิมตามผังเมืองรวมกทม พ.ศ. 2556) เป็นการขยายเขตทางถนนในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 (ซอยพัฒนเวศม์) และถนนซอยพัฒนาการ 20 (ซอยสวนหลวง) โดยมีการกำหนดให้ก่อสร้างถนนใหม่จากซอยพัฒนเวศม์ ตัดกับคลองตัน ไปบรรจบกับซอยพัฒนาการ 20 แยก 8 ซึ่งแต่เดิมแผนกำหนดการนี้ได้มีการระบุชัดเจนไว้อยู่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 โดยเป็นการกำหนดถนนสาย ข 51 มีรายละเอียดขยายเขตทางเป็น 16 เมตร* เชื่อมซอยปรีดีพนมยงค์ 26 กับซอยพัฒนาการ 20 แยก 8 แต่ร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการกำหนดความกว้างของเขตทางให้เหลือเพียง 12 เมตร เท่านั้น
ภายหลังพบว่ามีชาวบ้านผู้ร้องเรียนได้รับผลกระทบและอาจต้องถูกเวนคืนที่ดิน คือบริเวณซอยพัฒนเวศม์ 12 และซอยพัฒนเวศม์ 15 และชาวบ้านผู้อยู่อาศัยบริเวณใต้ทางด่วนฉลองรัช โดยส่วนใหญ่เพิ่งได้รับทราบเรื่อง บางส่วนไม่ทราบช่องทางในการคัดค้านร้องเรียน และกังวลถึงมาตรการการชดเชยเมื่อเกิดการเว่นคืนพื้นที่ ขยายถนน และร่นที่ดิน
กรณีดังกล่าวยังคล้ายกับกรณีพื้นที่ในซอยราชครู-อารีย์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ร้องเรียนว่าไม่ได้รับข่าวสาร ไม่มีการส่งเอกสารใดๆ ให้กับชาวบ้านผู้อยู่อาศัย จนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต้องช่วยกันบอกต่อ สร้างกลุ่มสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และนำไปสู่การติดป้ายคัดค้าน สะท้อนถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ชาวบ้านยังกังวลว่าอาจนำไปสู่การสร้างตึกสูงในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อยู่อาศัย
อ้างอิง
กรุงเทพมหานคร / สภาองค์กรผู้บริโภค / ชัชชาติ /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง