svasdssvasds

“คลัง”หั่น GDP ไทยปี 68 เหลือโต 2.1% เซ่นภาษีทรัมป์-ศก.โลกชะลอ

“คลัง”หั่น GDP ไทยปี 68 เหลือโต 2.1% เซ่นภาษีทรัมป์-ศก.โลกชะลอ

สศค. ปรับลดประมาณการศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือขยายตัว 2.1% จากเดิมขยายตัว 3% รับผลกระทบภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

SHORT CUT

  • สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือขยายตัว 2.1% จากเดิมขยายตัว 3%
  • ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
  • สำหรับการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.7-1.7%) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%)

สศค. ปรับลดประมาณการศรษฐกิจไทยปี 68 เหลือขยายตัว 2.1% จากเดิมขยายตัว 3% รับผลกระทบภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.6%) จากเดิมคาดขยายตัว 3.0% สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เม.ย.2568 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ เครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะทรงตัวที่ 1.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 0.5-1.5%) สอดคล้องกับความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิต เพื่อส่งออก และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

“คลัง”หั่น GDP ไทยปี 68 เหลือโต 2.1% เซ่นภาษีทรัมป์-ศก.โลกชะลอ

สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ยังคงมีความไม่แน่นอนและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำเป็นต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.7-3.7%) ตามกำลังซื้อในประเทศและรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 36.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.4% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ -0.1 ถึง 0.9%)

สำหรับการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.7-1.7%) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) จากการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีงบประมาณ 2568 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2569

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงอยู่ที่ 0.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.3-1.3%) ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2568 มีแนวโน้มเกินดุล 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.2% ของ GDP จากดุลการค้าที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้อิงตามกรณีฐาน (Base Case) เป็นสำคัญ โดยมีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนด้านนโยบายภาษีกับประเทศไทยและประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ในกรณีสูง (High Case) มีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการปรับลดภาษีนำเข้าของไทยและประเทศอื่นๆ ซึ่งลดลงอยู่ที่อัตรา 10% จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเป็น 2.5% (อยู่ในช่วงประมาณ 2.0-3.0%)

โดยแรงส่งหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการประเมินอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจัยลบเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยผ่านทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรง คือ การที่สินค้าส่งออกไทยเผชิญกับราคา ที่สูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ กระทบความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมเกิดจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง การลงทุนต่างประเทศในไทยอาจเพิ่มขึ้นบางส่วน แต่คาดว่าจะมีสินค้าไหลเข้าสู่ประเทศไทยแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจไทย กระทรวงการคลังได้เตรียมตัวรับมือและบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

1) ดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

2) เตรียมแหล่งเงินเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายการคลังให้มีขนาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง อันเนื่องมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

3) เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี 2568 เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4) ผลักดันความช่วยเหลือผู้ส่งออกผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)

5) บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดูแล กลุ่มเปราะบางและกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้

ในขณะเดียวกันยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) นโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศจีน 2) ทิศทางของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ 3) การไหลเข้าของสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษีที่ย้ายตลาดเข้าสู่ไทยมากขึ้น

4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ 5) การย้ายฐานการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษี 6) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และ 7) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

related