ฟู้ดแพนด้า พร้อมส่งมอบบริการต่อ โรบินฮู้ด เสริมแกร่งตลาดฟู้ดเดลิเวอร์รี่ เปิดทดสอบระบบโรบินฮู้ดภาษาอังกฤษ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนุนกำไรปี68
มรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด (Robinhood) เปิดเผยว่า ทันทีที่ ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) ประกาศ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2568 ว่าจะยุติให้บริการในไทย ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568 ที่จะถึงนี้ ตนเองก็ได้ติดต่อกับ เจ้าของฟู้ดแพนด้า Delivery Hero SE จากเยอรมนี เพื่อแสดงความต้องการในการเป็นเพื่อนทางธุรกิจในการดูแลบริการต่อจาก ฟู้ดแพนด้า
การเจรจาร่วมกันครั้งนี้ ไม่ใช่การซื้อกิจการ หรือ ซื้อข้อมูลลูกค้าจาก ฟู้ดแพนด้า เพราะผิดกฎหมาย PDPA แต่เป็นการส่งมอบบริการมายัง โรบินฮู้ด ซึ่งระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนี้ ฟู้ดแพนด้า จะทำหน้าที่ช่วยแจ้งลูกค้าให้ทราบว่า หากไม่ใช้บริการของ ฟู้ดแพนด้าลูกค้าสามารถเชื่อมต่อไปใช้บริการของ โรบินฮู้ดได้ โดยฟู้ดแพนด้า มีบริการหลายประเทศทั่วโลก
ดังนั้นสิ่งที่โรบินฮู้ด เตรียมการคือ การพัฒนาโรบินฮู้ดให้เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเล็งเห็นว่าหลังจากนี้มีโอกาสในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แน่นอน โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยนั้น นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ก็คือ การได้รับประทานอาหารในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังพบอีกว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาติยุโรปมีเพิ่มขึ้น และมีแผนที่จะขยายสู่หัวเมืองหลัก ภายในสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2568
ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากที่เขาเห็นความตั้งใจของแอปคนไทยอย่างเราที่ต้องการช่วยเหลือสังคม เพราะเรามองว่า เมื่อปิดแอป ไรเดอร์ เดือดร้อน เราต้องการให้เขามีงานทำ ดังนั้นเมื่อไม่ใช่การซื้อกิจการ เราก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ ฟู้ด แพนด้า แนะนำให้ลูกค้ามาใช้ โรบินฮู้ด ลูกค้าเขาจะมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลูกค้าเท่านั้น
มรกต กล่าวอีกด้วยว่า สิ่งที่เป็นจุดเด่นของโรบินฮู้ดคือ ระบบของคนไทยที่มาจาก SCBX นั่นหมายความว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย แต่เมื่อโรบินฮู้ด อยู่ภายใต้ยานแม่อย่าง SCBX เขาก็ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะธนาคารมักมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามผู้กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
แต่เมื่ออยู่ภายใต้การบริหารของยิบอินซอย การเป็นแพลตฟอร์มที่เน้น "แคร์ริ่งคอมมูนิตี" หรือการดูแลและใส่ใจในการให้บริการกับลูกค้า, ร้านค้า และไรเดอร์ โดยมีการเน้นที่การให้บริการอาหารที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ไม่มีการรับออเดอร์พ่วง แม้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 28 % แต่ก็น้อยกว่าคู่แข่งในตลาด มีการสร้างบริการที่ยืดหยุ่น เช่น การเรียกไรเดอร์ไปถวายเพลพระ มีการพัฒนาระบบหลังบ้านให้สามารถส่งรูปภาพได้ มีการพัฒนาไรเดอร์เรื่องการจราจร ตลอดจนการจัดกลุ่มร้านอาหารเป็นย่าน เพื่อสะดวกต่อการค้นหาร้าน และสร้างความต่างที่ไม่เหมือนใคร
ภายใต้การบริหารงานของคนไทย โรบินฮู้ด สามารถยืดหยุ่น และให้บริการแบบสไตล์คนไทยได้ ที่สำคัญภายในปีนี้ โรบินฮู้ด มีกำไรแน่นอน เพราะเราไม่ได้มาเผาเงิน แต่เราคุมต้นทุนที่เหมาะสม ได้ เมื่อรู้ต้นทุน ก็จะไม่ขาดทุน โดยเฉพาะต้นทุนที่สำคัญคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับไรเดอร์ทดแทนราคาจริงที่ได้ จากการจัดโปรโมชัน ส่งฟรี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าโฆษณาและการดึงดูดลูกค้า ทำให้ที่ผ่านมา โรบินฮู้ด และ ฟู้ด แพนด้า ขาดทุนสูง