svasdssvasds

เทียบตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด กับ สัดส่วนการสูบบุหรี่คนไทย

เทียบตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด กับ สัดส่วนการสูบบุหรี่คนไทย

มะเร็งปอด หนึ่งในโรคไม่ติดต่อ ที่เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดันต้นๆ ของคนไทย พบว่า สวนทางกับสัดส่วนการสูบบุหรี่คนไทย หรือสาเหตุสำคัญที่ต้องสนใจคือปัจจัยคุณภาพอากาศที่เราสูดทุกวันนั้นไม่ปลอดภัย

บุหรี่เป็นแพะรับบาปอันดับหนึ่งมาเสมอในฐานะต้นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งปอด แต่เมื่อทำการค้นข้อมูลตัวเลขอัตราการเสียชีวิตเจาะจงเฉพาะโรคมะเร็งปอดพบว่า สัดส่วนการสูบบุหรี่คนไทย 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ภาคเหนือเป็นภาคที่มีคนสูบบุหรี่น้อยที่สุด ผกผันกับภาคใต้ที่เป็นภาคที่มีคนสูบบุหรี่มากที่สุดแต่กลับมีอัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดต่ำที่สุดในประเทศ

หรือจริงๆ แล้วปัจจัยที่สำคัญที่เป็นบ่อเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นมาจากเหตุผลอื่น เป็นต้นว่า คุณภาพอากาศ ที่เราทุกคนสูดหายใจเข้า-ออกกันอยู่นั่นเอง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามข้อมูลในหัวข้อโรคไม่ติดต่อ อัปเดตล่าสุดจาก กองยุทธ์ศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลข สัดส่วนการสูบบุหรี่ของคนไทย จำแนกอายุ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546-2564 แบ่งตามช่วงอายุเป็น 15-24 ปี, 25-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไปนั้น พบว่าค่าเฉลี่ยลดลงเรื่อยมา ซึ่งช่วงอายุที่มีอัตราการสูบบุหรี่มากที่สุด คือ ช่วงวัย 25-59 ปี  

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ hiso.or.th ที่รวบรวมข้อมูล สถิติสุขภาพคนไทยในด้านต่างๆ

จังหวัดที่สูบบุหรี่สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. กระบี่ (29.4)
  2. สตูล (25.2)
  3. นครศรีธรรมราช (24.6)
  4. พังงา (24.6)
  5. ระนอง (24.5)

จังหวัดที่สูบบุหรี่ต่ำที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. สมุทรสงคราม (13.2)
  2. อุตรดิตถ์ (13.2)
  3. เชียงราย (12.6)
  4. ลำปาง (12.4)
  5. น่าน (11.1)

ส่วนข้อมูลอัตราการตายจากโรคมะเร็งปอด ในช่วง 10 ปีระหว่าง ปีพ.ศ. 2554-2563 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าแบ่งตามภูมิภาค นอกจากกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือมีอัตราการตายต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคนมากสุดติอต่อกันในประเทศตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยภาคใต้ตอนล่างอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดต่ำที่สุดในประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ hiso.or.th ที่รวบรวมข้อมูล สถิติสุขภาพคนไทยในด้านต่างๆ
 
โดยข้อมูล ปี 2563 อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดต่ออัตราประชากรหนึ่งแสนคน จากทั่วประเทศพบว่า 10 จังหวัดที่มีอันดับการเสียชีวิตสูงสุด มีดังนี้

  1. ลำปาง (44.87)
  2. ลำพูน (41.93)
  3. พะเยา (38.94)
  4. แพร่ (38.05)
  5. น่าน (37.21)
  6. เชียงราย (32.69)
  7. เชียงใหม่ (33.39)
  8. แม่ฮ่องสอน (30.31)
  9. อุตรดิตถ์ (29.34)
  10. ตาก (28.52)

ซึ่งจากข้อมูลพบว่า 8 ใน 10 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในภูมิภาค ภาคเหนือส่วนกรุงเทพมหานครมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่ออัตราจำนวนประชากรแสนคนเฉลี่ยอยู่ที่ 25.61 

จากรายงาน สถานการณ์คุณภาพอากาศ ปี 2564 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2564 ภาพรวมทั้งพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 67 วัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 9)

สำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 103 วัน (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 8) มีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 40 มคก./ลบ.ม. (ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 13) 

สาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่การเกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีพื้นที่เผาไหม้รวม 9.742 ล้านไร่ 5 จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก และนครสวรรค์

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ WEVO สื่ออาสา ที่อ้างอิง งานศึกษาของ รศ.พญ.บุษยามาส ระบุว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นเมื่อ PM2.5 ลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอด จะเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวและป้องกันไม่ได้ เมื่อเข้าไปในปอดแล้วก็จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA RNA หากร่างกายได้รับสาร PM2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป ร่างกายต่อสู้ไม่ไหวจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ 
โดยมะเร็งที่พบสัมพันธ์กับ PM2.5 ก็คือเป็นชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อม ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อสูด PM2.5 เข้าไป ความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า

รศ.พญ.บุษยามาส กล่าวเสริมว่า ในอดีตชนิดของมะเร็งปอดที่พบคนป่วยในภาคเหนือคือสแควมัสคาร์ซิโนมา (Squamous Carcinoma) แต่แนวโน้มในปัจจุบันพบมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมาในผู้ป่วยมากขึ้น

คุณหมอเน้นย้ำว่า PM2.5 ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว เพราะขนาดที่เล็กทำให้สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน ถุงลมโป่งพอง หอบหืด โรคหัวใจ ฯลฯ

ในส่วนของ บริเวณพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ทางเว็บไซต์ Rocket Media Lab ได้รวบรวมข้อมูลไว้พบว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261.05 มวน ลดลง 9 มวนจากปี 2020รวมแล้วคนกรุงเทพฯ อยู่ในเมืองที่มีเกณฑ์อากาศดี 90 วัน คิดเป็น 24.66% มากกว่าปีก่อนหน้า 19 วัน

โดยกรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน 

ส่วนเดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายและฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2021 และ 2020 คือเดือนมกราคม โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 23 มกราคม 2021 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่าปี 2020 อยู่ที่ 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งตลอดทั้งเดือนมกราคมของปี 2021 ไม่มีวันไหนที่มีอากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย

ที่มา 

ปี 2021 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261 มวน

ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ ตลอดปี 2021 เทียบกับจำนวนควันบุหรี่ที่เข้าปอด [ข้อมูลดิบ]

สถานการณ์คุณภาพอากาศปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

สถิติสุขภาพเชิงประเด็น จากเว็บไซต์ ThaiHealthStat