svasdssvasds

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ ยกเลิกเอาผิดคนไม่สวมหน้ากากอนามัย

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ ยกเลิกเอาผิดคนไม่สวมหน้ากากอนามัย

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเกี่ยวกับการยกเลิกเปรียบเทียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เล็งจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน จากการเฝ้าระวัง-ควบคุมโรค

วันที่ 19 ต.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า  ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 

1.ร่างแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566-2570 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนฯ ในเขตพื้นที่จังหวัด/กทม.

มี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ พัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, ยกระดับการจัดการภาวะฉุเฉินจากโรคติดต่อ, พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ และพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงและระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป

2.ร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) 

3.ร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. ... ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำขอต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักอนามัย กทม. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ภายใน 7 วัน ซึ่งจะพิจารณาค่าทดแทนชดเชยความเสียหายให้เสร็จภายใน 30 วัน หากค่าทดแทนไม่เกิน 1 แสนบาทจะเสนอไปยังกรมควบคุมโรคดำเนินการจ่าย หากเกิน 1 แสนบาทเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อชาติพิจารณาจ่าย ซึ่งรายการในการจ่ายค่าทดแทน มีทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เป็นต้น

4.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน ด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. ... เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งติดเชื้อหรือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โรคติดต่ออันตราย โรคระบาดจากการปฏิบัติหน้าที่ได้รับค่าชดเชย ครอบคลุมทั้งสังกัดส่วนกลาง ภูมิภาพ กทม. และส่วนท้องถิ่น โดยกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ได้รับค่าชดเชย 25 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะ พิการ ได้รับอันตรายสาหัส บาดเจ็บรักษาเกิน 20 วันขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 12.5 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท และกรณีติดเชื้อและได้รับการรักษาตั้งแต่ 7 วัน แต่ไม่เกิน 20 วัน ได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ/เงินนอกงบประมาณของกรมควบคุมโรค

5.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่ง พ.ศ. ... หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ออกคำสั่งให้ผู้ใดดำเนินการ แล้วผู้นั้นละเลยไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องดำเนินการแทนและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจำนวนที่จ่ายจริง

“ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จัดทำและส่งแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงมีการซักซ้อมแผนฯ เพื่อรองรับสายพันธุ์ XBB ยืนยันว่ายังมีระบบเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สะสม 143.5 ล้านโดส โดยเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2565 อยู่ระหว่างติดตามผล”นายอนุทินกล่าว   

ในส่วนของข้อ 2.ร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) หมายถึง   กรณีสั่งห้ามผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคโควิด-19 แพร่ออกไป  ที่ก่อนหน้านี้มีการออกระเบียบรองรับการเปรียบเทียบ หากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้สวมหน้ากากอนามัย แต่มีการฝ่าฝืน 

“ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จัดทำและส่งแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงมีการซักซ้อมแผนฯ เพื่อรองรับสายพันธุ์ XBB ยืนยันว่ายังมีระบบเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สะสม 143.5 ล้านโดส โดยเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2565 อยู่ระหว่างติดตามผล” นายอนุทินกล่าว 

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  สำหรับเรื่องการจ่ายชดเชยนั้น เป็นการออกระเบียบและกฎกระทรวงฯไม่ได้มีผลย้อนหลังจากที่ผ่านมา แต่ออกเพื่อรองรับสำหรับอนาคตที่จะมีการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคต่างๆที่กำหนดไว้ในพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีการกำหนดอัตราการจ่ายชดเชยถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ในประเด็นที่ไม่สามารถกำหนดเป็นอัตรการจ่ายได้  ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเป็นรายกรณี  โดยรายการเกี่ยวกับการชดเชย เช่น เสียชีวิต ทำศพที่มีการกำหนดอัตราไว้ในกฎหมายอื่นแล้ว ส่วน ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ยังไม่เคยมีการกำหนดในกฎหมายก็จะมีการตั้งคณะกรรมการมากำหนด 

ทั้งนี้ ภาพรวมในเรื่องของการจ่ายค่าทดแทนและค่าชดเชย แยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กรณีประชาชนทั่วไป ที่ได้รับความเสียหายจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 2.เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแล้วได้รับความเสียหาย และ3.การจ่ายให้ภาครัฐ ในกรณีที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายสั่งให้ดำเนินการบางอย่างในการป้องกัน ควบคุมโรค แต่บุคคลหรือหน่วยงานนั้นยังไม่ดำเนินการ  ขณะที่ไม่สามารถรอเวลาได้แล้วเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเอง เมื่อมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น  บุคคลหรือหน่วยงานนั้นจะต้องจ่ายค่าชดเชยในส่วนนี้ในอัตราตามที่มีการจ่ายจริง ยกตัวอย่าง กรณีสั่งให้นำซากสัตว์ที่อาจแพร่โรคมาตรวจ หรือล้างตลาด เป็นต้น

related