svasdssvasds

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม” หลังมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม” หลังมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

ปกป้อง จันวิทย์ ชี้ กรณี กสทช. มีมติเสียงข้างมาก รับทราบการควบรวมทรู-ดีเทค เป็นความพยายามตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์ของประชาชน พร้อมตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม ?”

จากกรณี กสทช. มีมติเสียงข้างมาก รับทราบการควบรวมทรู-ดีเทค ปกป้อง จันวิทย์ นักวิชาการ บรรณาธิการและนักเขียน ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า  กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ “พร้อมตั้งคำถาม กสทช. มีไว้ทำไม ?” โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีควบรวมทรู-ดีแทค : กสทช. มีอำนาจอนุญาต หรือแค่มีหน้าที่รับทราบ

“รับทราบ vs ไม่อนุญาต” สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการอนุญาตให้ควบรวมทรู-ดีแทค แล้วดีลควบรวมทรู-ดีแทคก็ได้ไฟเขียวจาก กสทช. ให้เดินหน้าต่อ

หลายคนเข้าใจว่า กสทช. 5 คน ลงมติ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ให้มีการควบรวมทรู-ดีแทค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเลวร้ายกว่านั้น มันไม่ใช่เสียง “เห็นชอบ” ชนะเสียง “ไม่เห็นชอบ” แต่ในที่ประชุม ประธาน กสทช. คือ นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ พยายามผลักดันว่า กสทช. มีอำนาจเพียงแค่ “รับทราบ” ดีลควบรวมทรู-ดีแทคเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่แต่อย่างใด

ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และองค์กรกฎหมายอย่างกฤษฎีกา หรือกระทั่งศาลปกครอง ที่ย้ำว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมาย จะมีก็แต่น้ำเสียงของฝ่ายผู้ควบรวมโดยเฉพาะฟากซีพี (และทรู) ที่ออกมาชูธงเรื่อง กสทช. ไม่มีอำนาจอนุมัติเสมอต้นเสมอปลายจนนาทีสุดท้าย เรียกว่าท่องคาถา “กสทช. ไม่มีอำนาจ” แบบคงเส้นคงวาโดยไม่สนอะไรหลักการไหนทั้งนั้น ถือหลักพูดบ่อยๆ เดี๋ยวคนก็เชื่อไปเอง

กฎหมายเขียนไว้ชัดขนาดไหน เดี๋ยวขอเล่าให้ฟังอีกรอบ แล้ว กสทช. เสียงข้างมากอย่างสรณและต่อพงศ์ใช้ช่องทางไหนหลบเลี้ยว จะชี้ให้เห็นต่อไป

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม” หลังมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กรณีควบรวมทรู-ดีแทค : กสทช.ตีมึนจำกัดขอบเขตอำนาจตัวเอง

มาที่เรื่องกฎหมายก่อน ว่า กสทช. มีอำนาจแน่ๆ เราเคยแต่เจอเคสองค์กรต่างๆ ชอบขยายขอบเขตอำนาจตัวเองให้กว้างขวางขึ้น จนกระทั่งเคสควบรวมทรู-ดีแทค มาเจอองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ตีมึนจำกัดขอบเขตอำนาจ (ที่ควรทำ) ของตัวเอง ปัดความรับผิดชอบ ลอยตัว ไม่ยอมทำงานหลักที่ตัวเองต้องทำ ประชาชนก็งงกันไปว่าจะมี กสทช. ไว้ทำไม

ในความจริงนั้น อำนาจและหน้าที่ของ กสทช. เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. ตลอดจนประกาศของ กสทช. ที่ให้อำนาจกำกับดูแลโดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม คือ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในการการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ข้อ 5 ของประกาศนี้กำหนดให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมที่ก่อให้เกิดนิติบุคคลใหม่เช่นนี้ จะต้องรายงานต่อ กสทช.

ต่อด้วยข้อ 9 ในประกาศฉบับเดียวกันระบุว่า การรายงานนั้นให้ถือเป็นการ ‘ขออนุญาต’ ตาม ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

เราเลยต้องตามต่อไปดูข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

นอกจากนี้ ประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 และประกาศฉบับ พ.ศ. 2561 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการควบรวม โดยที่ประกาศ พ.ศ. 2561 ให้เกณฑ์ไว้ว่าสามารถทำได้เมื่อ

1. ดัชนีการกระจุกตัวหลังการควบรวมสูงกว่า 2,500 จุด

2. มีการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 จุด

3. รายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

4. มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น กสทช. สามารถให้อนุญาต อนุญาตอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตตามการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับแจ้งรายงาน แต่มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมแน่นอน

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม” หลังมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ในที่ประชุมนัดประวัติศาสตร์ 11 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กสทช. สองคน (สรณ/ต่อพงศ์) ยืนยันว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่ “รับทราบ” รายงาน เขาหาช่องตรงไหนรู้ไหมครับ ตรงข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549

โดยมีเนื้อความเขียนว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้” รอบนี้ขอเน้นตรงคำว่า “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” ครับ เขาใช้ตรงนี้เป็นจุดพลิก

ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. ที่ 51/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ส่งให้สื่อมวลชนหลังประชุม เขียนว่า “ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 … และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ”

นั่นคือ ถ้าเข้าข่ายเป็นการเข้าถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมได้ แต่นี่ไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน! ดังนั้น กสทช. จึงทำได้แค่ “รับทราบ” เฉยๆ คำถามคือ ทรูกับดีแทคไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน !!!

ตนรออ่านความเห็นอย่างเป็นทางการของสอง กสทช. อย่างสรณและต่อพงศ์ว่า ท่านจะให้เหตุผลอย่างไรว่า การควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน

ถ้าเราตั้งใจอ่านเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่สรุปมติ กสทช. เขาใช้ถ้อยคำแบบนี้ครับ “จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ … ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ”

สังเกตจุดยืนที่แตกต่างกันของ กสทช. สองฝั่งนะครับ ฝั่งเสียงข้างมาก (สรณ ต่อพงศ์) ใช้คำว่า “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจ แต่ฝั่งเสียงข้างน้อย (ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ ร.ศ.ดร.ศุภัช ศุภัชลาศัย) ใช้คำว่า “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ เพราะตีความเรื่องอำนาจ กสทช. ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับตน เรื่องนี้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเห็นชอบให้ควบรวมด้วยซ้ำไป  กสทช. สองคน คนหนึ่งเป็นประธานเสียด้วย กำลังสร้างหลักใหม่ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของ กสทช. ด้วยซ้ำ

กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ทำไปทำไม แล้วใครได้ประโยชน์ — ประชาชน หรือ กลุ่มทุนใหญ่

คำถามคือถ้าอย่างนั้นจะมี กสทช. ไว้ทำไม ถ้าไม่สามารถจัดการอะไรกับกรณีการควบรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาด จนผู้เล่นลดลงจาก 3 รายเหลือแค่ 2 รายได้

เรื่องที่สังคมไทยต้องการ กสทช. ที่สุด กสทช. กลับไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบที่ตัวเองพึงต้องทำที่สุด ทั้งหมดนี้นำทีมโดยประธาน กสทช. เอง

ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งคำถาม “กสทช. มีไว้ทำไม” หลังมีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

กสทช. มีไว้ทำไม ?

ขอบันทึกทิ้งท้ายไว้อีก 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน เป็นเครื่องเคียงประกอบข่าว

เรื่องที่ 1

การลงคะแนนของ กสทช. 5 คนในครั้งนี้ บางสื่อรายงานว่า 3:2  ไม่ใช่นะครับ เป็น 2:2 ต่างหาก

2 เสียงแรกคือเสียงของสรณ และต่อพงศ์ที่ต้องการแค่ “รับทราบ” รายงานการควบรวมจากผู้ควบรวม 2เสียงหลังคือเสียงของพิรงรองและศุภัช ที่ชี้ว่า กสทช. มีอำนาจ และทั้งสองให้บันทึกว่า “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ มติที่ออกมาจึงเป็น “รับทราบ vs ไม่อนุญาต” ไม่ใช่ “อนุญาต vs ไม่อนุญาต”

ส่วน กสทช. อีกคนที่บทบาทหายไป คือ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คนนี้ “งดออกเสียง” ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์บันทึกเหตุผลไว้ว่า “เนื่องจากยังมีประเด็นการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน จึงของดออกเสียง” เรื่องนี้ขอยกไว้ก่อนว่าการงดออกเสียงไม่ยอมทำหน้าที่ชี้ขาดเหมาะสมหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลง่ายๆ แบบนี้

ทีนี้เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน จึงต้องให้ประธานชี้ขาด สรณเลยได้ลงคะแนนเสียงชี้ขาดอีกเสียงหนึ่ง ผลลัพธ์สุดท้ายเลยออกมาว่าฝ่ายอยากให้ตัวเองไร้อำนาจชนะไป

เรื่องที่ 2

สรณได้รับการสรรหามาในฐานะ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนต่อพงศ์ได้รับการสรรหามาในฐานะ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เรื่องที่ 3

ค่าตอบแทนประธาน กสทช. อัตราเดือนละ 335,850 บาท ทางสำนักงาน กสทช. เสนอปรับเพิ่มเป็นอัตราเดือนละ 361,167 บาท ส่วนค่าตอบแทนกรรมการแต่ละคน อัตราเดือนละ 269,000 บาท ทางสำนักงาน กสทช. เสนอปรับเพิ่มเป็นอัตราเดือนละ 289,167 บาท (เรื่องเข้า ครม. เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีผลบังคับหรือยัง)

โดยปกป้องได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “กสทช. มีไว้ทำไม ?”

ที่มา FB : Pokpong Junvith

related