svasdssvasds

สภาฯ ส่อวุ่น ถก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า "จุลพันธ์" แจง กฎหมายสำคัญกว่ากฎกระทรวง

สภาฯ ส่อวุ่น ถก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า "จุลพันธ์" แจง กฎหมายสำคัญกว่ากฎกระทรวง

สภาฯ ส่อวุ่น ถกเดือด พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า "จุลพันธ์" แจง กฎหมายสำคัญกว่ากฎกระทรวง ด้าน 'ธีรัจชัย' ฝาก จับตา ส.ส.เลือกข้างปชช.หรือนายทุน

วันที่ 2 พ.ย. 2565 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยเป็นการพิจารณาวาระ 2 เรียงตามมาตรา สำหรับมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เพื่อไม่ให้เกิดการกีดกันการแข่งขันผ่านกำลังการผลิต กำลังแรงม้า ทุนจดทะเบียน และจำนวนพนักงาน

โดยนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า เท่าที่รับรู้การผลิตสุราที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางครั้งมีการจำหน่ายด้วย มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และผลิตที่บ้าน ใช้กรวยสังกะสีเป็นสนิม บางครั้งชาวบ้านใส่กรัมม็อกโซนเพื่อเร่งเกิดการปฏิกิริยา และส่งกลิ่นเหม็นให้พื้นที่ใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงไม่ติดใจในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้มีการควบคุมชาวบ้านไม่ให้ผลิตสุราเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทำให้นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ.ท้วงว่า เรื่องคุณภาพ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุในร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านี้ก็จริง แต่ก็มีกฎหมายฉบับอื่นควบคุมอยู่แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้คือการให้อำนาจไปแก้ไขกฎกระทรวงฯ ซึ่งมีการปลดล็อก แต่มีอีกล็อกขึ้นมา เช่น การเอากำลังการผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรออก และให้ไปทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแทน ทั้งที่จริงการทำ EIA อาจไม่สำคัญกับการทำโรงเบียร์ขนาดเล็กมาก ส่วนการทำสุราพิเศษ เช่น บรั่นดี และลิเคียว ซึ่งกฎกระทรวงก็ยังไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้ กฎหมายฉบับนี้จึงไม่กำหนดกำลังแรงม้า และเครื่องจักร เพื่อให้เกิดการปลดล็อกการผลิตสุรา กฎหมายนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะออกโดยสภา จึงอยากให้ช่วยกันปลดล็อกโซ่ตรวนนี้ไปให้ได้

จากนั้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า การแก้กฎกระทรวงเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาทำอย่างเร่งด่วน มีการประกาศในราชกิจจาฯ ภายในวันเดียว ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในกระบวนการที่จะออกกฎกระทรวง หรือออกกฎหมายใดๆ แสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบ อาจจะเพื่อให้มีผลกระทบกับกระบวนการพิจารณาในสภาก็เป็นได้ ซึ่งศักดิ์สูงกว่ากฎกระทรวง เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของสภาว่าทิศทางการเปิดเสรีสุราเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดการเสมอภาคกับประชาชนไม่ให้รายใหญ่ผูกขาดอีกต่อไป ถ้าเราหวังพึ่งว่ามีกฎกระทรวงมาแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันให้เกิดความมั่นใจได้เลยว่า ในอนาคตทิศทางของตลาดสุราจะเป็นไปอย่างไร ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา แปลว่ากฎหมายที่เป็นแม่ของกฎกระทรวงไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นเราต้องยืนยันด้วยกฎหมาย

ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ในฐานะที่เป็นมุสลิม อย่างไรเสียก็ต้องลงมติงดออกเสียงร่างกฎหมายฉบับนี้แน่นอน แต่เราไม่ควรนำกฎกระทรวงที่ออกเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่าจะรับหรือไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  แต่สิ่งที่กังวลคือ ปัญหาตัวเลขผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ คุณและโทษของสุรา รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน และจำนวนรายได้ของรัฐจะลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร 
 
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วันนี้เป็นการวัดใจ ส.ส.ว่าจะกดตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งมาหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน แสดงว่ายังมี ส.ส.เชื่อฟัง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ เรื่องนี้เป็นการวัดใจว่าเราจะยืนข้างทุนผูกขาด หรือยืนข้างประชาชน จึงขอให้ประชาชนไปเช็กชื่อ ส.ส.ที่โหวตได้เลย เรื่องนี้ไม่ต้องรอรัฐบาลหน้าแล้วค่อยทำ จึงอยากขอให้สมาชิกมายืนข้างประชาชน

related