กกท. แจงปม IPTV จอดำ ยืนยันการให้สิทธิ์กลุ่มทรูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กสทช. ดังนั้นการที่ผู้ให้บริการรายอื่น ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
วันนี้ เพจเฟซบุ๊กกองประชาสัมพันธ์ กกท. ได้รายงานว่า ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ว่า
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/54243 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 , หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53709 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53355 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามหนังสือทั้ง 3 ฉบับ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ในข้อ 2.2 ข้อ 2.4 ข้อ 2.8 และข้อ 2.10 นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์บอล สเปน - โมร็อกโก 6 ธ.ค. 65 ฟุตบอลโลก 2022 รอบ 16 ทีมสุดท้าย
เช็กเส้นทางรอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 สู่การเป็นแชมป์ ทีมใดเข้ารอบบ้าง
5 ประเด็น ทีมชาติเกาหลีใต้ เข้ารอบงบ 16 ทีมฟุตบอลโลก 2022 สุดบีบหัวใจ
“การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอเรียนให้ทราบว่า กกท. มิได้เพิกเฉยในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจาก กกท. ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายถอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) (FIFA World Cup Final 2022) ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม 2565 ณ กรุงโดฮา รัฐการ์ตา จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565
และต่อมา กกท. ได้ตกลงให้สิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลกกับสำนักงาน กสทช. และผู้รับอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
โดย กกท. ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งได้ปฏิบัติตามประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่องแนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (หลัก Must Carry) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ อันเป็นบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึง โดยทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย
ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ได้ให้บริการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ผ่านระบบ ไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท.
ทั้งไม่มีการเสียค่าตอบแทนใดใดให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. ได้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายนั้นเป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฐานละเมิดทรัพย์ทางปัญญาและลิขสิทธิ์ รวมทั้งให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ซึ่งศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ร้องขอ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ฯ ขอให้ศาลฯ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
“ศาล ฯ ได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า การมอบสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ที่ กกท. ให้สิทธิ์แก่ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. แต่เพียงผู้เดียวเป็นไปตามประกาศของ กสทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถเลือกชมโทรทัศน์ได้หลายช่องทาง ทั้งในระบบฟรีทีวี ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล และในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน มิใช่เพียงแค่ช่องทางระบบไอพีทีวี (IPTV) เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหลัก Must Carry แล้ว
อีกทั้งจำเลยมีผู้รับบริการเพียง 900,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนในประเทศไทย ที่รับชมการรับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด นอกจากข้ออ้างที่ว่า ตนต้องปฏิบัติตามหลัก Must Carry ตามประกาศของ กสทช. เท่านั้น
ทั้งจำเลยก็มิได้เสียค่าตอบแทนใดๆ มีแต่ได้รับประโยชน์จากการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการเท่านั้น หากปล่อยให้จำเลยแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022( รอบสุดท้าย) ในระบบไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) ต่อไป จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ได้รับสิทธิ์มากกว่า”
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวสรุปว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ ต่อผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท. ซึ่ง กกท. ต้องเคารพในสิทธิ์และการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ กกท. แต่อย่างใด กกท. ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างเคร่งครัดแล้ว
ที่มา กองประชาสัมพันธ์ กกท.