ดาวเคราะห์น้อยห้าดวงที่เข้ามาใกล้โลกในวันเดียวกัน นักดาราศาสตร์ย้ำนี้เป็นเหตุการณ์ปกติไม่ควรวิตกกังวล และไม่มีอัรตรายใดๆกับโลก
นาซา NASA หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยจำนวน 5 ดวงที่โคจรเข้ามาใกล้โลกในช่วงวันที่ 26-27 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา โดยนักดาราศาสตร์เน้นย้ำว่า นี่เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทั้ง 5 ดวงไม่ได้มีความน่ากังวลที่จะเกิดอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด สิ่งสำคัญของปรากฏการณ์แสนธรรมดานี้คือโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้อะไรจากพวกมัน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่กำลังถูกพูดถึงในแวดวงวิทยาศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ ก็คือ เหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อยห้าดวงที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลกในวันเดียวกัน โดย Facebook NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า ดาวเคราะห์น้อยที่กำลังเป็นกระแสตอนนี้ ได้แก่ 2022YB1, 2019LTS, 2022YY3, 2022 YR4, 2022YG1 และ 2010XC15 ซึ่งสามารถสรุปข้อมูลน่าสนใจของดาวเคราะห์น้อยทั้ง 5 ดวงที่กำลังเป็นที่สนใจ ดังนี้
1. ในบรรดา 5 ดวงนี้ จะมี 2022 YR4 เข้าใกล้โลกมากที่สุดด้วยระยะห่าง 301,000 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ถือว่าค่อนข้างใกล้ แต่ก็ไม่มีการประกาศแจ้งเตือนอันตรายใด ๆ เนื่องจากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 6 เมตร หากเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก ดาวเคราะห์น้อยจะถูกเผาไหม้ไปจนหมดก่อนที่จะตกถึงพื้นโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
2. อัตราเร็วในการโคจรของดาวเคราะห์น้อยถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ของโลก ในบรรดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลกในวันที่ 27 ธันวาคม 2022 จะมี 2010 XC15 ที่มีความเร็ว 20,312 กิโลเมตร/ชั่วโมง (5.64 กิโลเมตร/วินาที) ซึ่งเร็วกว่ากระสุนปืนไรเฟิลหลายสิบเท่า แต่สำหรับวัตถุที่เดินทางในระบบสุริยะถือว่ายังไม่เร็วมาก ยานสำรวจอวกาศตอนที่ออกจากโลกยังมีอัตราเร็วเฉลี่ยถึง 40,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง (11.11 กิโลเมตร/วินาที) สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่กำลังเป็นที่สนใจดวงที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดคือ 2019 LTS ความเร็วสูงถึง 53,909 กิโลเมตร/ชั่วโมง (14.14 กิโลเมตร/วินาที) แม้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะมีอัตราเร็วสูง แต่ตอนที่ใกล้โลกมากที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 6 ล้านกิโลเมตร (ห่างจากโลกราว 15.6 เท่าของระยะห่างระหว่างโลก-ดวงจันทร์) จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่มันจะพุ่งชนโลก
3. ขนาดของดาวเคราะห์น้อยที่มีเผยแพร่ออกมาส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ขนาดที่แท้จริง เป็นเพียงการประมาณ และเพื่อให้สาธารณชนสามารถเปรียบเทียบได้ง่าย การรายงานข่าวจึงมักเทียบกับวัตถุบนโลกที่เรารู้จักเช่น รถ ตึก หรือภูเขา ทำให้รู้สึกว่าดาวเคราะห์น้อยที่รายงานมีขนาดใหญ่มาก ในข่าวที่ปรากฏดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุด 2010 XC15 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 140-300 เมตร ขนาดใกล้เคียงกับภูเขาลูกเล็ก ๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าขนาดที่เป็นไปได้มีค่าต่างกันถึง 2 เท่า หมายความว่าขนาดที่แท้จริงของมันสามารถเป็นค่าใดค่าหนึ่งในช่วงการประมาณค่าดังกล่าว และดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายจนต้องจับตาดูเป็นพิเศษ จะมีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งดาวเคราะห์น้อยทั้ง 5 ดวงก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์นี้
การแจ้งเตือนดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลกมีการรายงานสู่สาธารณชนเป็นประจำตามเว็บไซต์ของหลายองค์กร และไม่นานมานี้ นาซา NASA หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนารูปแบบการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางขึ้นมาใหม่
เว็บไซต์นี้จะแสดงรายละเอียดของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง 5 ดวงที่กำลังจะเข้าใกล้โลกในเร็ว ๆ นี้ ประกอบด้วยรายชื่อวัตถุ ข้อมูลเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ ขนาดสัมพัทธ์กับวัตถุบนโลก วันที่และระยะห่าง ณ ช่วงเวลาที่วัตถุดังกล่าวจะโคจรจะเข้ามาเฉียดโลก ซึ่งมีการอัพเดตทุกวัน ส่งผลให้ในอนาคตเราจะเจอดาวเคราะห์น้อยและดาวหางเฉียดโลกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกหลายครั้ง