กรุงเทพมหานครจัดเสวนา“แผ่นดินไหวตุรกี กทม.พร้อมแค่ไหน” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและให้ความสำคัญต่อการเตรียมการรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ เตือนอาคารกว่าพันหลังทั่วกรุง ต้องตรวจสอบเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพราะก่อสร้างก่อนออกกฎหมายควบคุมต้านทานแรงสั่นสะเทือน
ศาสตราจารย์ นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หากพูดถึงแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครในอดีตเคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอำเภอแม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ซึ่งแรงสั่นสะเทือนยังส่งไปถึงจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งหากดูจากกราฟในเชิงวิศวกรรมแรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพมหานครปีนั้นมากกว่าสุรินทร์ถึง 5 เท่า เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยากรุงเทพมหานครมีพื้นดินอ่อนนุ่มต่างจากสุรินทร์ที่พื้นดินแข็ง แต่ก็ไม่ถึงกับเกิดความรุนแรงขึ้น เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่บ่งบอกว่าแรงสั่นสะเทือนทำให้โครงสร้างของอาคารเกิดโยกเอียงได้
และจากการศึกษาข้อมูลกรุงเทพมหานครอยู่ในพื้นที่สีเขียว หรือ ความเสี่ยงของแผ่นดินไหวอยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นร่วมด้วยโดยเฉพาะสภาพของพื้นดินที่อ่อนนุ่ม รวมถึงอาคารซึ่งก่อสร้างก่อนปี 2550 ที่ขณะนั้นกฎหมายกฎกระทรวงควบคุมการก่อสร้างอาคารในการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว ยังไม่บังคับใช้ ซึ่งมีอยู่หลายพันอาคาร แม้อาคารเหล่านั้นตามหลักวิศวกรรมจะออกแบบมาให้ตานทานแรงลมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้เต็ม100
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย 6.3 แมกนิจูด เสียชีวิต 3 เจ็บกว่า 200 คน อาคารพังถล่ม
USAR Thailand พร้อมสุนัข K9 เซียร่า-ซาฮาร่า พร้อมกู้ภัยแผ่นดินไหวตุรกี
ขณะเดียวกันในส่วนของอาคารสูงที่ก่อสร้างหลังปี 2550 ถึงจะใช้การออกแบบยึดตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาแต่บางครั้งค่าการออกแบบก็น้อยกว่าค่าที่ควรจะเป็น ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัย ออกตรวจวัดค่าการสั่นโยกของอาคาร ทั้งในกรุงเทพฯและเชียงใหม่ จนได้กราฟมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงเพื่อให้วิศกรนำไปใช้เป็นมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างเพื่อต้านทานแผ่นดินไหวทั้งในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมมั่นใจว่าในอนาคตหากมีมาตรฐานที่ดีกว่าก็จะปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้นได้
ขณะที่นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การพูดคุยในวันนี้หลักๆ มี 2ประเด็น คือเรื่องของกฎหมาย กฎกระทรวง ควบคุมอาคารในการออกแบบรับแผ่นดินไหว ตั้งแต่ปี2550 เป็นต้นมา ซึ่งจะมีอาคารกลุ่มหนึ่งที่สร้างก่อนปี 2550 จะต้องมีการตรวจสอบ โดยภาพรวมอาคารกรุงเทพมหานคร ถือว่ามีความเสี่ยงไม่มาก แต่ก็เสี่ยงในระดับหนึ่งจึงต้องมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564 มีการแก้ไขกฎหมายฉบับเพิ่มเติมเพื่อให้การสร้างอาคารมีความรัดกุมและรองรับแผ่นดินไหวได้มากขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา กทม.โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงทีมยูซ่าไทยแลนด์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการกู้ชีพช่วยเหลือผู้ประสบเหตุก็มีการซักซ้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวมานานกว่า 2 ปี ดังนั้นขอให้ประชาชนไม่ตัองกังวลหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพราะกทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกรูปแบบ
ด้านนายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว กรุงเทพมหานคร ทีม USAR Thailand กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ไปปฏิบัติงานในภารกิจที่ประเทศตุรกีว่า ความยากในการปฏิบัติหน้าที่คือ อาคารบางแห่งที่ทีมค้นหาเข้าไปยังไม่ผ่านการตรวจของ ทีม usar international และอาจจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาได้ ความซับซ้อนของพื้นที่ที่คาดเดาโครงสร้างทางวิศวกรรมได้ยาก แม้ในกรุงเทพฯจะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างจริงจังอาจจะรับรู้ในบางจุด แต่กรุงเทพฯ เคยมีเหตุการณ์ตึกถล่มจากการรื้อถอนและการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามโครงสร้างวิศวกรรม กรณีเกิดเหตุการเข้าถึงด้วยความรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยกู้ชีพต้องใช้หลักวิศวกรรมใช้อำนาจทางกฎหมายในการเข้าพื้นที่ และมีการคัดเลือกทีมวิศวกรเข้าไป เพราะไม่ต้องแสดงการคำนวณต้องใช้ดุลพินิจตัดสินใจด้วยประสบการณ์
และการบังคับใช้กฎหมายมีส่วนสำคัญ หลายครั้งการทำงานมีหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานตามกฏหมายเข้าไปถึงพื้นที่ก่อน มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดวิบัติซ้ำหรือมีซากปรักหักพังถล่มลงมาอีกครั้ง จุดนี้ต้องปรับการเรียนรู้ว่าหน่วยงานต้องทำให้ประชาชนมีความเข้าใจว่าหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุไปต้องเป็นหน่วยงานใด ซึ่งจะต้องตรงวัตถุประสงค์และตรงหน้าที่จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และต้องมีการบังคับบัญชางานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หากมีหลายหน่วยงานเข้าไปทำภารกิจซ้ำๆ เช่นเดียวกันอาจจะทำให้โอกาสรอดของผู้ที่ติดอยู่ในอาคารลดน้อยลงได้