ศูนย์จีโนมฯ เปิดวงจรการแพร่ระบาดของ "ไวรัสมาร์บวร์ก" ในแอฟริกา รังโรคของไวรัสคือค้างคาวที่อาศัยในถ้ำ สามารถแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ผ่านการสัมผัส พบติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล มีสัดส่วนสูงถึง 1 ต่อ 20
วันที่ 23 ก.พ. 2566 เพจ Center for Medical Genomics (ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ไวรัสมาร์บวร์ก โดยระบุว่า
วงจรการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในแอฟริกา
-รังโรค(reservoir)ของไวรัสมาร์บวร์ก คือค้างคาว(กินผลไม้)ที่อาศัยในถ้ำ
-คนงานที่เข้าไปขุดแร่ในถ้ำหรือนักท่องเที่ยวถ้ำเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสกับอุจจาระหรือปัสสาวะของค้างคาวที่มีไวรัสมาร์บวร์กปะปนอยู่ เมื่อนำนิ้วมือที่มีไวรัสปนเปื้อนไปลูบ เกา หรือขยี้บริเวณปาก จมูก และตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนไวรัสจะสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้
-ต้นไม้ใหญ่และสวนปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งอาหารสำหรับค้างคาวผลไม้ประเภทนี้ที่จะไปชุมนุมกันเป็นจำนวนมากซึ่งอาจมีการแพร่กระจายไวรัสไปยังผู้ที่อาศัยหรือทำงานในบริเวณนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ไวรัสมาร์บวร์ก" อันตรายแค่ไหน โรคติดต่อร้ายแรงคล้ายอีโบลา อัตราการตายสูง
ดร.อนันต์ เผยพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในไทย วัคซีนยับยั้งไวรัสได้ระดับหนึ่ง
-การล่าสัตว์และการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากซากสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในมนุษย์
-ไวรัสมาร์บวร์กสามารถแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อหรือผู้ตายที่ติดเชื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างพิธีศพ
-การติดเชื้อระหว่างบุคลากรในโรงพยาบาลกับผู้ติดเชื้อที่มารักษาตัวในโรงพยาบาลมีสัดส่วนสูงถึง 1 ต่อ 20 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในแต่ละช่วงของการระบาด
-ในพื้นที่ที่ลิงและไพรเมตอาศัยอยู่ใกล้กับมนุษย์ พวกมันอาจติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ สิ่งนี้พบได้จากการระบาดของไวรัสอีโบลาหลายครั้งในแอฟริกากลาง ซึ่งกอริลล่าและลิงชิมแปนซีจำนวนมากเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อ
การลดลงของประชากรลิงเนื่องจากไวรัสมาร์บวร์ก และอีโบลาไม่เพียงแต่จะเป็นการสูญเสียสัตว์สงวนสำคัญเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม ตัวอย่างเช่น ไม้ผลจำนวนมากในแอฟริกากลางอาศัยลิงเหล่านี้ในการกระจายเมล็ดพันธุ์ การสูญเสียสัตว์เหล่านี้อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการงอกใหม่ของต้นไม้เหล่านี้
ในแอฟริกาได้มีความพยายามในการปกป้องประชากรลิงจากการติดเชื้อฟิโลไวรัสด้วยเช่นกัน