svasdssvasds

ไทยไม่ใช่เกษตรกรรม แต่เป็นประเทศค้าขายทันสมัยมาตลอด!

ไทยไม่ใช่เกษตรกรรม แต่เป็นประเทศค้าขายทันสมัยมาตลอด!

เปลี่ยนมุมมองประวัติศาสตร์ไทยกับ 'เอนก เหล่าธรรมทัศน์' ยืนยันไทยเป็นประเทศค้าขายและเข้าสู่โลกาภิวัตน์มาก่อนยุคล่าอาณานิคม โดยการนำของพระมหากษัตริย์ไทย ไม่ใช่แค่ประเทศเกษตรกรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

SHORT CUT

  • ยกหลักฐาประวัติศาสตร์จากที่ตั้งของอยุธยา-กรุงเทพ-ธนบุรี ยืนยันว่าไทยเป็นประเทศค้าขายมากกว่าเกษตรกรรมอย่างเดียว
  • ไทยเป็นโลกาภิวัฒน์ก่อนยุคล่าอาณานิยมที่เปิดรับเอาวัฒนธรรม วิทยาการ และความหลกาหลายเข้ามาในชาติ จนเมืองหลวงเป็น Cosmopolitan Capital
  • การเลื่อนลำดับชั้นในสังคมเกิดขึ้นได้ กษัตริย์และประชาชนต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็น ราชประชาสมาสัย

เปลี่ยนมุมมองประวัติศาสตร์ไทยกับ 'เอนก เหล่าธรรมทัศน์' ยืนยันไทยเป็นประเทศค้าขายและเข้าสู่โลกาภิวัตน์มาก่อนยุคล่าอาณานิคม โดยการนำของพระมหากษัตริย์ไทย ไม่ใช่แค่ประเทศเกษตรกรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรยายเรื่องพระมหากษัตริย์กับความเป็นไทยใน 4 ประการ

ประการแรกคือความมีชาติพันธุ์ มีภาษา มีชาติ มีรัฐ มีเอกราชมายาวนานถึง 700 ปี เริ่มต้นจากผู้ใช้ภาษาไท ไต ลาว ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ยาวมาตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงประเทศเวียดนาม แต่ปัจจุบันมีแค่ 2 ชาติเท่านั้นที่ยังใช้ภาษาในตระกูลนี้ นั่นคือประเทศไทยและสปป.ลาว 

แม้จะเคยพ่ายแพ้ให้กับพม่ามา 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ไทยก็ยังรักษาเอกราชไว้ได้ จุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐชาติมาจากพื้นที่บริเวณตอนใต้ของจีน หรือบริเวณยูนนาน และย้ายถิ่นฐานลงมาเรื่อยๆ จากคนหลายชนชาติก็หลอมรวมด้วยภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน จนมาถึงบริเวณในปัจจุบัน

ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มี 2 มหาสมุทร คือ แปซิฟิกและอินเดีย กลายเป็นสะพานเชื่อมการเดินเรือระหว่างตะวันตกและตะวันออก ทำให้เกิดการค้าทางไกลระหว่างเอเชียกับยุโรป ประเทศไทยจึงเป็นประเทศกึ่งบกกึ่งทะเล เห็นได้จากการเลือกเมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพฯกรุงธนฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยหันหน้าไปทางทะเลเพื่อทำการค้าทางไกลกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เปอร์เซีย เป็นต้น 

"ประเทศไทยหันหน้าไปทางทะเล ชำนาญการค้า แตกต่างจากการตีความประวัติศาสตร์ในอดีต...เราเป็นประเทศที่มองทะเลเป็นหลัก เราเป็นประเทศที่ Internationalize หรือ Globalize มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว"

แผนที่ประเทศไทยโบราณ

ประการที่สอง คือ ความเป็นไทยที่เปิดรับโลก พระมหากษัตริย์ทำให้สยามมองไปที่โลกและการค้าทางไกล เอนก กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยมักจะวาดภาพไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่จริงๆ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมบวกค้าขาย คนไทยเราทำเกษตรกรรมจริงๆ ไม่ถึง 4-5 เดือนต่อปี พอเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็พักผ่อน เล่น สร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือแม้ว่าเราจะผลิตข้าวได้ก็ไม่มากนักเพราะดินไม่ได้เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เหมาะกับการปลูกผลไม้ ดังนั้นที่ฝ่ายซ้ายหลายคนวิจารณ์ว่าพระมหากษัตริย์ขูดรีดส่วนเกินจากชาวนา สร้างกรุงศรีอยุธยา เพราะการเก็บภาษีจากไพร่ แต่แท้จริงแล้วผลผลิตจำนวนไม่มากเพียงแค่ให้พอกิน แต่ไม่เพียงพอให้พัฒนากรุงศรีอยุธยาให้งดงาม แต่เป็นเพราะการค้า

ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่เคยล้าสมัย แต่ทันโลกมาตลอด เพราะภูมิศาสตร์ที่ใกล้จีนและอินเดีย เราจึงต้องทันสมัยและค้าขายสินค้าเกษตร ของป่า สมุนไพร เป็นต้น และยังรับเอาศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังมีการค้าทางบก เช่น เชียงใหม่ที่ค้าขายกับจีน หรืออีสานที่ค้าขายกับลาวและเวียดนาม

"พระมหากษัตริย์ไทยไม่เคยเป็นศัตรูกับพาณิชย์ ทุนนิยม และเสรีนิยม เพราะพระมหากษัตริย์เป็นนักรบ นักการค้า และนักปกครอง"

ภาพจาก GettyImages Royalty-free

ประการที่สาม คือ พระมหากษัตริย์ไทยไม่เน้นเรื่องเลือด พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก็มาจากสามัญชน หรือในสังคมไทยก็มีการเลื่อนลำดับชั้นในสังคม เช่น ถ้าใครเก่งก็ได้รับการสถาปนา จากไพร่มาเป็นขุนนางได้ หรือถ้าถูกใจใครหรือเห็นใครสวยก็ไปขอมาเป็นสนม หรือถ้ามีลุกกับพระมหากษัตริย์ก็ได้เป็นเจ้าจอม พ้นจากการเป็นไพร่ ต่างจากประเพณีของสถาบันกษัตริย์ในยุโรป

ขณะเดียวกันการขึ้นมาเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา เกิดจาการที่อาณาจักรสุพรรณบุรีรวมกับอาณาจักรละโว้ โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นจุดที่สะดวกในการสัญจรและการค้า ก่อนที่เริ่มผนวกเข้ากับภาคใต้ และในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำให้พระนครศรีอยุธยามีกษัตริย์องค์เดียว โดยอยุธยากับสุโขทัยแต่งงานกัน และในสมัยรัชกาลที่หนึ่งเริ่มผนวกล้านช้างและอีสานเข้าไว้ด้วยกัน ขณะที่ในรัชกาลที่สามไปตีลาวแล้วกวาดต้อนคนลาวเข้ามาอีก และสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 กษัตริย์ภาคเหนือหมดไปด้วยการยกเลิกเจ้าประเทศราช

การปกครองแบบสยามคือการทำให้พระมหากษัตริย์มีเกียรติยศ เห็นได้จากพระราชพิธีต่างๆ หรือพระบรมราชโองการโปรดเกล้านากยรัฐมนตรี เป็นต้น ขณะเดียวกันความเป็นนักการค้าทำให้คนไทยเปิดรับโลก แต่ถูกปิดประเทศในยุคอาณานิคม ประเทศเจ้าอาณานิคมยึดเส้นทางเดินเรือ ไทยกลัวต่างชาติบุกเข้ามาจนทำให้ปิดประเทศและกลายเป็นประเทศบก จนทำให้กลายเป็นเหมือนอัลไซเมอร์ไปเป็นร้อยปี

อย่างไรก็ตาม เมืองหลวงของไทยเป็นเมืองที่คนชาติอื่นๆ เข้ามาอยูด้วยกัน ในอดีตคนเกินครึ่งในเมืองหลวงก็ไม่ใช่คนไทย อาชีพอื่นๆ ก็มีต่างชาติมาทำ เราคือ Cosmopolitan Capital ไม่ใช่ Capital of Nation คือเมืองหลวงนานาชาติ ความทันสมัยที่รับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างของอินเดีย แต่ไม่รับเอาเรื่องวรรณะเข้ามา ทำให้เชื้อสายกษัตริย์ไทยมีเลือดเนื้อใหม่ๆ เข้ามาผสมตลอดเวลา 

เอนก กล่าวว่า คนไทยแท้ๆ มีน้อยมาก ขุนนางครึ่งหนึ่งก็เป็นคนต่างชาติ และไม่ต้องเปลี่ยนสัญชาติเพื่อมารับราชการ ในราชสำนักของไทยพูดภาษาไทย มลายู และโปรตุเกส เพราะเราไม่เคยหวงตำแหน่งสำคัญไว้ให้ไทยแท้ ใครเก่งก็ได้ไป เช่น ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ตะรกูลใหญ่ๆ เช่น บุนนาค ก็เป็นมุสลิม หรือองคมนตรีในรัชกาลที่เก้าก็มาบรรพบุรุษมาจากหลากหลายเชื้อชาติ 

ขณะเดียวกัน เอนก ชี้แจงว่า กษัตริย์ไทยก็พหุชาติ พหุเลือด และพระมหากษัตริย์ไทยเป็นพระยาจักรพรรดิราช (Universal Monarchy) คือ ปกครองคนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนาเท่าเทียม ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ของชาติ (National Monarchy) แต่เป็นพระมหากษัตริย์ของนานาชาติที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ท่านทรงพอใจในการที่มีพสกนิกรหลายเชื้อชาติเข้าเฝ้าและมีพระสหายจากหลายเชื้อชาติชนชั้น เพราะรัฐศาสตร์แบบสยามคือมีพระมหากษัตริย์ก่อนมีชาติ มีอาณาจักร

ภาพจาก จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย

ประการที่สี่ คือ ราชประชาสมาสัย เอนก ย้ำว่า ประชาชนและกษัตริย์อาศัยกันและกัน ถ้าท่านไม่มีประชาชนท่านก็เป็นกษัตริย์ไม่ได้ หรือถ้าประชนไม่รักไม่ศรัทธา พระมหากษัตริย์ก็ไม่มั่นคง ส่วนประชาชนเองก็รู้อยู่ว่าเราปกครองกันเองไม่ค่อยได้ เพราะรู้สึกว่าเท่ากัน แต่ต้องมีคนกลางเป็นผู้นำ 

"เราก็ต้องไม่พยายามไปยึดในหลวงมาเป็นของเราแต่ฝ่ายเดียว ต้องให้ในหลวงเป็นของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน"

โดยจะเห็นว่า ลำดับชั้นในสังคมเป็นแนวคิดไม่ใช่ของสังคมไทยแต่เดิม เพราะของไทยพัฒนามาแค่เผ่า เน้นการมีส่วนร่วม แต่สุดท้ายพอสังคมใหญ่ขึ้นก็ต้องมีลำดับชั้น แต่ลำดับชั้นไหลขึ้นลงได้ ยกตัวอย่างศาสนาพุทธแบบเนปาลหรือศรีลังกาก็ยังมีลำดับชั้น เช่น ศากยวงศ์ หรือสยามวงศ์สำหรับชนชั้นสูง เป็นต้น แต่ศาสนาพุทธแบบไทยใครก็สามารถบวชได้ และเมื่อบวชแล้วพ่อแม่ หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องกราบไหว้ 

ขณะเดียวกัน เอนก ยกตัวอย่างว่า การพึ่งพาอาศัยกันของสังคมไทยที่เห็นได้จากระดับการปกครองแบบนายและไพร่ ที่การลงโทษไพร่ของไทยน้อยมาก เพราะลงโทษจนไพร่เจ็บแล้วเขาก็ใช้ทำงานไม่ได้ หรือถ้าลงโทษมากไพร่ก็หนี ดังนั้นจึงต้องอยู่แบบปรองดอง เป็นต้น

ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นแนวคิดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยคงอยู่ไปพร้อมกับสังคมไทย

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์