svasdssvasds

“อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทวิภาคี ไทย-อิตาลี

“อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทวิภาคี ไทย-อิตาลี

“อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” ครั้งที่ 8 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทวิภาคี ไทย-อิตาลี ร่วมผลักดันการค้าระหว่างประเทศ คาดเม็ดเงินสะพัดเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย โดยปีนี้มีนักธุรกิจชั้นนำจากประเทศอิตาลีและประเทศไทยเข้าร่วมรวม 25 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทจากอิตาลี 12 บริษัท และบริษัทจากไทย 13 บริษัท ครอบคลุมหลากหลายภาคธุรกิจ เช่น พลังงาน, เครื่องจักรอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบิน, การเงินและประกันภัย, อุตสาหกรรมยาง, อุตสาหกรรมยางรถจักรยาน-ยางรถมอเตอร์ไซค์, การก่อสร้าง, การเกษตร, อาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจค้าปลีกและการบริการ และยังได้รับเกียรติจาก ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการเข้าร่วมประชุมอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างบริษัทสมาชิกอิตาลีและไทย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม มีวัตถุประสงค์หลักในการสานสัมพันธ์  พร้อมต่อยอดความร่วมมือระหว่างสมาชิกกลุ่มธุรกิจในการร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วาเลนตีโน วาเลนตีนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอิตาลี, กล่าวเปิดการประชุม ที่ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีซึ่งมีมายาวนาน โดยปี 2023 เป็นปีแห่งการครบรอบ 155 ปีของความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้มีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างชาว อิตาเลียนและชาวไทย

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญ ทางด้าน การค้าและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศระหว่างภาคเอกชนโดยในช่วงเดือน มค.- กย. 65 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3.5 พันล้านยูโร หรือ เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน  โดยเฉพาะการหารือครั้งล่าสุดเกี่ยวกับประเด็น การเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป มีทิศทางที่เป็นบวก ผ่านเจตจำนงค์ร่วมของทั้งสองฝ่ายที่จะ ลดกำแพงภาษีเพื่อส่งเสริมการค้าและยกระดับมาตรฐานทางการค้า การเปิดเสรีการบริการและการลงทุน การค้าดิจิทัล การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลอิตาลีจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้การเจรจาทั้งสองฝ่ายให้เกิดข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมรอบด้าน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันของทั้งสองประเทศ

“อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทวิภาคี ไทย-อิตาลี

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การประชุม Italian-Thai Business Forum จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีในด้านความร่วมมือทางธุรกิจและเป็นเวทีสำหรับผู้แทนภาคเอกชนและสมาคมการค้าของทั้งสองประเทศ ในการหารือเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศไทยหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด จะทำให้การค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศกลับมา  สดใสยิ่งขึ้น และค่อยๆฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ในนามของประธานร่วมการประชุมในครั้งนี้ ขอขอบคุณ คุณคาร์โล เปเซ็นติ (Mr. Carlo Pesenti) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิลิอาเร (Itamobiliare) ซึ่งเป็นประธานร่วมการประชุมฝั่งอิตาลี, สมาชิกฝั่งไทย-อิตาลี, ผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ตลอดจน ฯพณฯ เปาโล ดิโอนิซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ได้กล่าวให้ความสำคัญกับฟอรั่มครั้งนี้ซึ่งจะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ

ในช่วงแรกของการประชุม นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่ยังมีการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวและผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรได้รับการจับตามองในอนาคตได้แก่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ การเปิดประเทศของจีน โอกาสในการเกิดไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มเติมที่เป็นผลมาจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภค

นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานฯ ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิพิเศษ ทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เช่น การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) บุคลากรที่มีศักยภาพสูง รวมถึงโลจิสติกส์และศูนย์กลางทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จจากการจัดงาน APEC ว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานและต้อนรับผูู้นำเขตศรษฐกิจทั้ง 21 เขต รวมทั้งผู้นำแขกรับเชิญพิเศษของรัฐบาลไทย  โดยทั้งการประชุมคณะทำงานต่างๆ, การประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC (ABAC) และการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ (APEC CEO Summit) ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทย ด้วยแนวคิด BCG : Bio-Circular-Green Economic Model เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเปาโล มากรี (Mr. Paolo Magri) Executive Vice President, Italian Institute for International Political Studies (ISPI) กล่าวว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามร้อนในยุโรประหว่างยูเครนและรัสเซีย และสงครามเย็นในเอเชียระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปี 2565 สร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยในอนาคตสิ่งที่ยังคงต้องคอยจับตามองคือทิศทางของสงคราม ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อการค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงาน และสภาวะเงินเฟ้อ

นายคาร์โล อัลโตมอนเต (Mr. Carlo Altomonte) Associate Dean and Director of PNRR Lab, Bocconi University ได้กล่าวถึงการรับมือของสหภาพยุโรปต่อการระบาดของสถานการณ์โควิด 19 ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางการเงินที่ให้แก่ประเทศสมาชิกในนาม กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU Recovery Fund) ซึ่งจัดสรรให้กับประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของตัวเลข GDP และความรุนแรงของผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้งบประมาณในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นต่อไป ผ่านเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล และนวัตกรรม วิวัฒนาการสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสามารถในการเคลื่อนย้ายและเดินทางที่ยั่งยืน การศึกษาและค้นคว้าวิจัย การสร้างสังคมสำหรับทุกคนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนความเข้มแข็งด้านสุขภาพ

related