svasdssvasds

โพลล์ เผย คนไทย 87.1% พร้อมจ่ายค่าสมาชิกดูคอนเทนต์ผ่าน OTT งง! ยังเจอโฆษณา

โพลล์ เผย คนไทย 87.1% พร้อมจ่ายค่าสมาชิกดูคอนเทนต์ผ่าน OTT งง! ยังเจอโฆษณา

บ้านสมเด็จโพลล์ เผยผลสำรวจคนไทย 87.1% พร้อมเปย์ค่าสมาชิกดูคอนเทนต์ผ่าน OTT แต่ไม่วาย เจอโฆษณาคั่น ทั้งที่เสียตังค์ดู! วอน ภาครัฐเร่งกำกับดูแล OTT ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,114 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7-10 เมษายน 2567 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) คือการให้บริการเนื้อหาสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต การบริการผ่าน แพลตฟอร์ม และเป็นแบบin app purchase คือ การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น แล้วมีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม หรือ ที่บอกรับสมาชิกและเรียกเก็บเงินโดยแพลตฟอร์ม

ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นจำนวนมากเนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจากความสะดวกสบายในการรับฟังและรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหลากหลายอุปกรณ์ โดยผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยที่เสียภาษีให้กับประเทศแบบถูกต้อง และแบบที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยโดยเงินของคนไทยที่ใช้บริการไหลออกไปยังต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับภาษีจากการชำระค่าบริการนั้นๆ

ในปัจจุบัน พบว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับการให้บริการ OTT นั้น กสทช. ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับดูแลโดยเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสม การกำหนดราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค การมีโฆษณาคั่นในการรับชมผ่าน OTT แม้จะมีการชำระค่าสมาชิกก็หรือค่ารับชมแล้วก็ตาม

เหล่านี้ คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร รวมถึงความเหลื่อมล้ำจากการถูกกำกับดูแลและการเสียภาษี ระหว่างผู้ให้บริการ IPTV และผู้ให้บริการ OTT ทั้งๆ ที่ลักษณะและรูปแบบของการให้บริการมิได้แตกต่างกัน กสทช. ควรหาแนวทางกำกับดูแลกิจการ OTT ให้เป็นธรรมและเหมาะสมเพื่อประชาชน

โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 91.3 มีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 87.1 และมีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ร้อยละ 90.1

การใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทในประเทศไทย

  • อันดับที่หนึ่ง คือ TRUEID ร้อยละ 49
  • อันดับที่สอง คือ AISPLAY ร้อยละ 44.3
  • อันดับที่สาม คือ 3 PLUS ร้อยละ 18
  • อันดับที่สี่ คือ MONOMAX ร้อยละ 13.3
  • อันดับที่ห้า คือ Bugaboo inter ร้อยละ 8.4

การใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ

  • อันดับที่หนึ่ง คือ Netflix ร้อยละ 67
  • อันดับที่สอง คือ Youtube ร้อยละ 48.7
  • อันดับที่สาม คือ Disney plus Hotstar ร้อยละ 15.3
  • อันดับที่สี่ คือ Viu ร้อยละ 13.3
  • อันดับที่ห้า คือ iQIYI ร้อยละ 12.2

ปัจจุบันมีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ต่อเดือน เดือนละ 1 – 500 บาท ร้อยละ 75.5 มากที่สุด โดยคิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ในปัจจุบันมีความเหมาะสม ร้อยละ 65.8 และคิดว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) 1 – 500 บาท ต่อเดือน ร้อยละ 74.7 มากที่สุด

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก คิดว่าไม่ควรมีโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 73.8 และ 1 ใน 4 ของผู้ชม หรือราว 25.6% เคยพบโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก

โดยเหตุผลที่ใช้บริการแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก

  • อันดับที่หนึ่ง คือ ต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจ ร้อยละ 72.2
  • อันดับที่สอง คือ ไม่ต้องการรับชมโฆษณา ร้อยละ 19.4
  • อันดับที่สาม คือ ต้องการติดตามดาราที่ชื่นชอบ ร้อยละ 6.8

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าภาครัฐควรจัดเก็บภาษีของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 42.3 ภาครัฐไม่ควรมีการกำกับเนื้อหา ร้อยละ 51 ของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) และภาครัฐควรมีการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 70.2

อยากให้ทางภาครัฐ มีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

  • อันดับที่หนึ่ง คือ จ่ายค่าปรับ ร้อยละ 76.4
  • อันดับที่สอง คือ ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 42.1
  • อันดับที่สาม คือ ยึดใบอนุญาต ร้อยละ 1.9

หากพบเห็นปัญหาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จะร้องเรียน

  • อันดับที่หนึ่ง คือ คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการ (OTT) ร้อยละ 54.4
  • อันดับที่สอง คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) ร้อยละ 16
  • อันดับที่สาม คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช) ร้อยละ 13.6
  • อันดับที่สี่ คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.6
  • อันดับที่ห้า คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อยละ 4.7
related