svasdssvasds

สนช.ไฟเขียวแก้ “พ.ร.บ.คณะสงฆ์” 3 วาระรวด คืนพระราชอำนาจแต่งตั้ง มส.

สนช.ไฟเขียวแก้ “พ.ร.บ.คณะสงฆ์” 3 วาระรวด คืนพระราชอำนาจแต่งตั้ง มส.

สนช. เอกฉันท์แก้ “พ.ร.บ.คณะสงฆ์” 3 วาระรวด คืนพระราชอำนาจแต่งตั้ง มส. ด้านวิษณุ เครืองาม ยืนยันให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ปลอดอำนาจการเมืองแทรก

โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นไปอย่างเรียบร้อย ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกตามโบราณราชประเพณี จึงสมควรแก้ไขเพิ่มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้การแต่งตั้งกรรมการมหาเถระสมาคม หรือ มส. หรือให้ มส.พ้นจากตำแหน่ง เป็นพระราชอำนาจ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหลักการดังกล่าว จะรวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอน เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชอัธยาศัยเห็นสมควร

ทั้งนี้ ให้กรรมการ มส. ชุดปัจจุบัน ปฏิบัติภาระกิจต่อไป จนกว่าจะมีกรรมการ มส. ชุดใหม่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย ว่า เพื่อให้กรรมการ มส. มาทำหน้าที่ปฏิรูปองค์กรสงฆ์ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวไม่ได้มีการไปแก้ไของค์ประกอบกรรมการ มส. โดยให้มีไม่เกิน 20 รูปเช่นเดิม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช จะเป็นองค์ประธานโดยตำแหน่ง แต่ให้ยกเลิกกรรมการโดยตำแหน่งอื่น ๆ

พร้อมชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมว่า แม้กรรมการมหาเถระสมาคม จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่โดยหลักสงฆ์ มักจะเกรงใจกัน ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ยืดยาวกันมา ไม่มีการปรับเปลี่ยน และอาจอาพาธระหว่างดำรงตำแหน่ง จึงขาดประชุมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นเวลานานหลาย 10 ปี

นอกจากนี้พระผู้ใหญ่หลายรูปยังต้องคดีถูกกล่าวหา ทำให้ความรู้สึกประชาชนกับพระพุทธศาสนาเปลี่ยนไป จึงควรมีการจัดระเบียบองค์กรสงฆ์ ซึ่งตามโบราณราชประเพณี และรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การแต่งตั้งสถาปนาฐานันดรศักดิ์ต่าง ๆ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และหากต้องการขับเคลื่อนศาสนาจากมหาเถระสมาคม จึงควรแก้ไข ประกอบกับกรรมการ มส. ชุดปัจจุบัน จะครบวาระในเดือนกันยายนนี้ จึงควรดำเนินการแก้ไขให้รวดเร็ว พร้อมย้ำด้วยว่า การกำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองรับสนองพระบรมราชโองการ จะไม่ทำให้อำนาจการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้ง มส. ได้ เพราะเรื่องนี้ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่นายกรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ถวายความเห็นใด ๆ

นายวิษณุ ยืนยันอีกว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบคอบและเข้มข้นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นมากกว่ากฎหมายฉบับอื่น ๆ ด้วย

ขณะที่ สมาชิก สนช. ต่างสนับสนุนการแก้ไขครั้งนี้ เพื่อคืนพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถระสมาคม หรือ มส. เพราะพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงถึงเวลาปรับปรุงองค์ประกอบ มส. เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับ และให้ศาสนาอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ประธาน สนช. จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

related