svasdssvasds

เปิดปูมชีวิตรัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน [คลิป ]

การจะได้มาซึ่งตำแหน่งรัฐบุรุษ เป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือจากคนในประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และพลเอกเปรม ยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาลให้ช่วยบริหารราชการแผ่นดินจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

“ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจ ที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ” 

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงยินดีและทรงขอบใจแก่คณะองคมนตรี และมีพระราชดำรัสถึงพลเอก เปรม ขณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2559หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป สะท้อนถึงความไว้วางพระราชหฤทัยที่มีต่อรัฐบุรุษและปูชนียบุคคลผู้นี้เป็นอย่างดี

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของ รองอำมาตย์โทหลวงวินิจ ทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนาง วินิจ ทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) โดยครองตัวเป็นโสดตลอดมา โดยรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีจากคำเชิญของรัฐสภาถึง 3 สมัย ระหว่างปี 2523-2531 ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานกว่า 8 ปี และเคยได้รับฉายาว่า "เตมีย์ใบ้" เพราะมักตอบคำถามผู้สื่อข่าวแบบถนอมคำพูดมาก และหลายครั้ง ก็ใช้วิธีนิ่งและไม่ตอบคำถาม

นอกจากนี้ยังมีคำจำกัดความ ที่ พลเอกเปรม ชอบกล่าวถึงเสมอ คือ “The Old soldiers never die” ซึ่งท่านระบุไว้ว่า “มีฝรั่งพูดกันว่า “The Old soldiers never die” เป็นภาษาอังกฤษที่แปลง่ายๆ ว่า คนเราเมื่อลองได้เป็นทหารครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องเป็นไปตลอดชีวิต ไม่ใช่เกษียณแล้วเลิกเป็น ไม่ใช่ลาออกแล้วเลิกเป็น เพราะคนที่เป็นทหารต้องมีเลือดเนื้อจิตวิญญาณของการเป็นทหารอยู่ในสายเลือด เมื่อเป็นทหารก็ต้องเป็นไปจนวันตาย ในนี้ยังมีเลือดเนื้อวิญญาณของการเป็นทหารตลอดเวลา ถ้าใครไม่รู้สึกอย่างนี้ ก็ไม่สมควรที่จะเป็นทหาร”

สำหรับการศึกษา พลเอกเปรม เป็นนักเรียนนายร้อย โรงเรียนเทคนิคทหารบก หรือเทียบเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 ในช่วงนั้นเกิดภาวะสงคราม ทางราชการจำเป็นต้องให้สำเร็จการศึกษาก่อนจบหลักสูตร 5 ปี คือ ได้ศึกษาเพียง 3 ปี ก็ต้องเข้ารับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดในสนามรบจริง และได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดประจำกองรถรบ โดยทำการรบอยู่ที่บ้านปอยเปต ชายแดนจังหวัดสระแก้ว ทั้งที่ขณะนั้นยังมีสภาพเป็นนักเรียนอยู่ ก่อนจะถูกส่งไปราชการในคราวพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องในกรณีเรียกร้องขอดินแดนคืน และได้รับการแต่งตั้งเป็น ว่าที่ร้อยตรี

หลังจากได้พักประมาณ 6 เดือน ได้รับคำสั่งให้กลับเข้าสู่สนามรบอีกครั้ง ณ สมรภูมิเชียงตุง เมื่อ 2485 ในสงครามเอเชียบูรพา โดยได้รับตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองหนุนในกองทัพพายัพ อยู่ในสมรภูมิรบนาน 5 ปี และได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท, ร้อยเอก ก่อนกลับเข้ารับราชการในหน่วยปกติหลังสงครามยุติเป็น หัวหน้ากองบังคับการกรมรถรบ และในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า มักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ พลเอก เปรม นอกจากจะได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในทางทหาร โดยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่มีผลงานโดดเด่นยอดเยี่ยมในการสู้รบ และปกป้องประเทศชาติจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญสูงสุดเช่นกัน โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 และรัฐบาลสมัยนั้น ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาวิกฤติ จนต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ต้องปิดไฟฟ้าแต่หัวคํ่า ปันส่วนนํ้าตาล นำไปสู่การประกาศใช้มาตรการประหยัด และรณรงค์ให้อุดหนุนใช้สินค้าไทย

หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และได้จัดตั้งให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 การเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ พลเอกเปรม ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหนึ่งสมัย ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2526 จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2531 และได้นำพาประเทศผ่านภัยสงครามความขัดแย้ง ที่ต้องต่อสู้กันด้วยอาวุธ และภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จนภายหลังสหรัฐอเมริกา พ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม แต่พลเอกเปรม ได้บริหารประเทศจนผ่านพ้นมาด้วยดี ได้รับผลสำเร็จในทุกๆด้าน ถือเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน

และนอกจากยศ “พลเอก” แล้ว พลเอก เปรม ยังได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และพลอากาศเอก ของกองทัพอากาศด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 ในระหว่างที่พลเอก เปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ แม้หลังก้าวลงจากอำนาจ สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ก็ยังมีกลุ่มและพรรคการเมืองต่างๆ พยายามขอร้องให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัย แต่พลเอก เปรม ก็ได้ปฏิเสธ และประกาศวาทกรรมอันเป็นที่จดจำตราบเท่าทุกวันนี้ว่า “ป๋าพอแล้วลูก”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แต่งตั้งพลเอกเปรม เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 และประกาศยกย่องให้เป็น รัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 โดยดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 1 ธันวาคม 2559 และหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ พลเอกเปรมจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาเป็นประธานองคมนตรีต่อไปอีก

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงถือเป็นนายทหารแห่งกองทัพไทย ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รับใช้ประเทศชาติ ทดแทนคุณแผ่นดินต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 10 รวมถึง 5 รัชกาล และนับเป็นคนไทย 5 แผ่นดิน ที่อยู่รับราชการสนองคุณแผ่นดิน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

related