ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์องค์การเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ขอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด
1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เน้นมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และรณรงค์ให้ทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึงปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหมอ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตนได้ติดตามระบบกระจายหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ทั่วถึงโรงพยาบาล และในทุกพื้นที่ จะไม่ยอมให้กำลังหลักของเรา ต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้ อย่างเด็ดขาด
“ผมขอยืนยันว่าเรามียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอและมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เรายังมีความพร้อมในเรื่อง เตียง สำหรับผู้ป่วย โดยสามารถเพิ่มศักยภาพจากโรงพยาบาลทุกสังกัด หอพัก และโรงแรม ให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ รัฐบาลถือว่าเป็น “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ดังนั้น จะมี 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ มารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
2.ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง มีเป้าหมายสำคัญ คือ จำกัดการเดินทาง – การเคลื่อนย้ายคน และจำกัดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดต่างๆ พร้อมกันนี้ตนได้ออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่2 โดยห้ามออกจากบ้าน 22.00-04.00 น. ซึ่งต้องขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า อาหาร เพราะท่านยังสามารถออกมาซื้อหาข้าวของในช่วงกลางวันได้ตามปกติแต่ต้องเคร่งครัดในเรื่อง “ระยะห่างทางสังคม” ด้วย
3. ด้านการควบคุมสินค้า ตนได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า สำหรับสินค้าที่กักตุนนั้นขอย้ำว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายเข้มงวดและเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนหาต้นตอของปัญหา ตลอดสายการผลิต ตั้งแต่ต้นทาง - กลางทาง - ปลายทาง ทั้งนี้ การกักตุนสินค้ามีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ “สายด่วน บก.ปคบ. 1135”
4.ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและการใช้น้ำ รวมทั้งลดค่าน้ำ – ค่าไฟ 3 เดือน สำหรับทุกครัวเรือน ส่วนผู้ประกอบการและ SME รัฐบาลก็จะช่วยคืนสภาพคล่อง - ลดภาระค่าใช้จ่าย - บริหารหนี้เดิมไม่ให้เป็น NPL ด้วยมาตรการด้านภาษีและการเงิน อีกหลายมาตรการ เพื่อทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย มั่นใจได้ว่า “เราไม่ทิ้งกัน”
5.ด้านการต่างประเทศ โดย ศบค. ได้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีการยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกประเทศ อย่างเข้มงวด ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เติมเข้ามาอีก ขอยืนยันชาวต่างประเทศ ไม่ได้เดินทางเข้ามาแล้ว ตั้งแต่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไป เว้นแต่เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนด เช่น คณะทูต หรือผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานในไทย หรือลูกเรือที่มากับเที่ยวบินนั้นๆ
6.ด้านการสื่อสาร ศบค.จัดให้มีระบบการสื่อสารที่เป็น “เอกภาพ” ไปในทิศทางเดียวกัน หรือ Single Voice โดยจะมีการแถลงข่าวที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ในทุกช่องทาง เป็นประจำ “ทุกวัน” หลังการประชุมในช่วงเช้า โดยโฆษกศูนย์ และผู้รับผิดชอบโดยตรง “เท่านั้น” งดเว้น และหลีกเลี่ยง การให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมาย หรือเกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ ของศูนย์
"ผลการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ข้างต้น อย่างเคร่งครัด ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ อยู่ในระดับที่ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน เฉลี่ยแล้วอยู่ในอัตราไม่ถึง 20% ไม่สูงถึง 33% ที่เป็นระดับของประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทั้งนี้ เป้าหมายร่วมกันของเรา คือ การขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ ให้ได้โดยเร็วที่สุด และทุกคนปลอดภัย เราจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างไม่ลดละ ต้องบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด อย่างต่อเนื่อง และเหมาะสม ผมขอย้ำว่า ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือปฏิบัติตนตามมาตรการแยกตัวอยู่บ้าน เพื่อลดภาระของทีมแพทย์และพยาบาล ผมขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ผมจะทำทุกทาง เพื่อที่จะนำพาประเทศของเรา ก้าวข้ามเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้ อย่างมีสวัสดิภาพ อย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้พวกเราสู้!! ไปด้วยกันครับ ประเทศไทยต้องชนะ" นายกฯ กล่าว
https://youtu.be/68BPBEr-n1U