svasdssvasds

“จิราพร” ส.ส.เพื่อไทย อัดงบประมาณ 64 เสี่ยงพาประเทศสู่ภาวะล้มละลาย

“จิราพร” ส.ส.เพื่อไทย อัดงบประมาณ 64 เสี่ยงพาประเทศสู่ภาวะล้มละลาย

“จิราพร” ส.ส.เพื่อไทย อัดงบประมาณ64 เสี่ยงพาประเทศสู่ภาวะล้มละลาย แนะรัฐบาลปรับวงเงินงบประมาณลง 100,000 ล้านบาท

งบประมาณปี64 นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย บอกว่าหลังจากศึกษารายละเอียดของร่างงบประมาณฉบับนี้แล้ว ตนไม่อาจรับหลักการได้ เพราะรัฐบาลประเมินเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน ทำงบผิดพลาด ประเทศเสี่ยงล้มละลายทางการคลัง

ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างแสดงความกังวลถึงการประเมินเศรษฐกิจที่คลาดเคลื่อนของรัฐบาล และรัฐบาลเองก็ออกมายอมรับว่ามีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มีการคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของไทย ในปี 2563 จะติดลบประมาณ -5 ถึง -6% ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของสำนักทางเศรษฐกิจหลายแห่ง ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัว -8 ถึง -10% หนักกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ซะอีก และวิกฤตครั้งนี้ มีหลายสำนักทางเศรษฐกิจประเมินว่า จะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 3 ปี หรืออาจมากกว่านั้น

ดังนั้น เมื่อทุกฝ่ายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลมีการประเมินเศรษฐกิจผิดพลาดแต่ไม่ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง เช่นนี้ถือว่าการทำร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ เป็นการประมาทต่อสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เกินไปหรือไม่?

งบประมาณวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นงบประมาณที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในทุกด้าน และสุ่มเสี่ยงที่จะพาประเทศไปสู่การเกิดภาวะล้มละลายทางการคลังในระยะยาว

อีกทั้งรัฐบาลได้คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท โดยประมาณ 90% ของรายได้จำนวนนี้มาจากภาษีอากร น้ำพักน้ำแรงของประชาชน แต่ถ้าเราไปดูการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2557-2562 รวม 6 ปีงบประมาณ

ปรากฎว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สามารถจัดเก็บภาษีตามประมาณการได้เพียงปีเดียว คือ ปี 2562 นอกนั้นพลาดเป้าหมด นี่ขนาดตอนที่ไทยไม่ได้เผชิญกับวิกฤตโควิด รัฐบาลยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามที่ประมาณการณ์ไว้ และปีงบประมาณ 2563 ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ จะเป็นตัวอย่างที่การจัดเก็บรายได้มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการมาก

โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - เมษายน 2563 ในระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไปกว่า 103,599 ล้านบาท และตอนนี้แล้วในขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจกำลังหดตัวรุนแรงกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ การจัดเก็บรายได้ยิ่งจะทำได้ยากมากขึ้น และอาจต่ำกว่าเป้าอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แถมรัฐบาลยังต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีกยิ่งจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวช้าไปอีก จึงมีแนวโน้มสูงที่ปี 2564 รัฐบาลจะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งถ้าประเทศอยู่ในภาวะปกติที่มีเงินคงคลังสะสมไว้สูงเพียงพอ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปบ้างก็ไม่น่ากังวลนัก เพราะสามารถนำเงินคงคลังมาใช้ชดเชยรายได้ที่เก็บได้ต่ำกว่าเป้า

แต่ขณะนี้ปรากฏว่า เงินคงคลังของไทยอยู่ในภาวะตึงตัวเป็นอย่างมาก เพราะถูกรัฐบาลใช้ไปชดเชยการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหลายปีติดต่อกัน และถ้าปี 2564 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้ามาก จะส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะล้มละลายทางการคลังทันที

หากรัฐบาลยังตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท จึงมีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะต้องกู้เพิ่ม ถามว่าถ้าจะกู้รัฐบาลต้องกู้เพิ่มเท่าไหร่? และถามว่ายังสามารถกู้เพิ่มได้หรือไม่?

ถ้าเราดูภาวะหนี้สาธารณะของไทยตอนนี้ ตามที่สมาชิกหลายคนได้อภิปรายไปจะอยู่ที่ประมาณ 58% ของ GDP ซึ่งก็ปริ่มมากที่จะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่อย่าลืมปัจจัยสำคัญคือ ถ้า GDP ในปี 2564 โตต่ำกว่าร้อยละ 5% ที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ จะทำให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งทะลุเพดาน จนสูญเสียวินัยทางการคลัง

ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้งบประมาณสามารถเดินต่อไปได้ โดยที่ยังรักษาความปลอดภัยในวินัยทางการคลัง

โดยเบื้องต้น ตนเห็นว่า รัฐบาลควรจัดงบประมาณปี 2564 ที่มียอดต่ำกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าถามว่ายอดที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ คำตอบ คือ ไม่ควรตั้งเกิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดรวมของงบประมาณปี 2563 และสามารถทำให้ต่ำกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใส่ใจวินัยทางการคลังมากน้อยแค่ใหน

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าตนกำลังเสนอให้ไม่ต้องกู้เพื่อชดเชย แต่การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ต้องทำในระดับที่เหมาะสม และสามารถทำงบประมาณที่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่การกู้เงินกันถึง 623,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีระบบงบประมาณมา และอย่าลืมว่าจะเป็นการกู้ที่ทบยอดการกู้ใน พ.ร.ก. กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาทอีกด้วย และแถมเงินกู้นี้ถูกใช้จ่ายไปกับรายการที่ไม่ได้สร้างผลิตภาพผลิตผลให้กับประเทศหลายรายการ

นอกจากนี้ ถ้าไปดูรายละเอียดรายการงบประมาณอื่นๆ จะพบว่าเป็นการจัดงบประมาณในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่งบประมาณสำหรับภาวะวิกฤต สิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ทำก็ไม่ได้ตอบโจทย์สภาวะปัญหาของประเทศ พฤติกรรมของรัฐบาล เหมือนคนที่ได้มรดกตกทอดมาทำให้มีทรัพย์สิน มีฐานะทางการเงินที่ดี จึงเคยตัวกับการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาตลอด 6 ปี พอมาวันนี้เจอวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเองแทบจะล้มละลายอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ปรับตัว ใช้จ่ายเหมือนเดิม ไม่ยอมตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

นางสาวจิราพร ยังบอกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีงบประมาณที่ทำโดยรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนเก่า คิดแบบเก่า ทำงบประมาณแบบเก่า แต่ผลลัพธ์ในครั้งนี้อาจจะไม่เหมือนเก่า แต่จะเลวร้ายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเรากำลังเผชิญกับสึนามิทางเศรษฐกิจชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน จำนวนเงินมากไม่ได้หมายความว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้ เพราะหัวใจของการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ คือมันสมองและคุณภาพในการใช้เงินของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใช้เงินไม่เป็น เงินจำนวนมหาศาลนี้ก็จะสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชนเพิ่ม ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และเป็นเหมือนระเบิดเวลา และอาจพาประเทศไปสู่การล้มละลายทางการคลังได้

related