svasdssvasds

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์ 3 ปัจจัยนำไปสู่จุดแตกหัก กองทัพยึดอำนาจอองซานซูจี แล้วสถานการณ์ตรงนี้ จะส่งผลให้เมียนมาต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการทหาร จนถึงขั้นปิดประเทศ อีกหรือไม่ ?

สปริง สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกรณีกองทัพเมียนมา ยึดอำนาจ ควบคุมตัวอองซานซูจี ปิดฉากบรรยากาศประชาธิปไตย ที่ดำเนินมากว่า 4 ปี โดย รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ถึงจุดแตกหัก ที่นำไปสู่การยึดอำนาจ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ ดังต่อไปนี้  

ปัจจัยที่ 1 การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ไม่ราบรื่น

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเอ็นแอลดี ของอองซานซูจี จะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดการกระทบกรทั่งระหว่างนักการเมืองกับกองทัพหลายครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จากการปกครองแบบเผด็จการทหาร สู่ประชาธิปไตย ที่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น  

“หลังการเลือกตั้ง พรรคเอ็นแอลดี ของอองซานซูจี ชนะอย่างท่วมท้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ ที่ไม่ราบรื่น

“โดยรัฐธรรมนูญของเมียนมา ยังไม่สามารถรองรับการพัฒนาประชาธิปไตยได้ ทหารยังคงบทบาทสำคัญ มีที่นั่งในสภา แล้วทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันบ่อยครั้งระหว่างกลุ่มของอองซานซูจี กับกองทัพ ซึ่งปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน

“ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงัก และไม่ทันเวลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สถานการณ์จึงบานปลาย

“ที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดี ได้ส่งคนไปบริหารหลายกระทรวงร่วมกับทหาร แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทหารกับพรรคเอ็นแอลดี กระทบกระทั่งกันเป็นประจำ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคด้วย ทำให้การบริหารราชการติดขัด นำมาสู่ความชะงักงันด้านเศรษฐกิจ”  

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

ปัจจัยที่ 2 ท่าทีของอองซานซูจี ต่อโรฮีนจาในรัฐยะไข่

ส่วนปัจจัยต่อมา รศ.ดร.ปณิธาน วิเคราะห์ว่า จากท่าทีคลุมเครือของอองซานซูจีต่อการเสียชีวิตของชาวโรฮีนจาจำนวนมาก ในรัฐยะไข่ ที่ถูกโจมตีจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ชื่อของเธอเสื่อมมนตร์ขลังด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ดังนั้นหากมีการยึดอำนาจ กองทัพจึงประเมินว่า กระแสต่อต้านจากภายนอก อาจไม่สูงนัก

“ที่ผ่านมามีสถานการณ์ซ้ำเติมพรรคเอ็นแอลดีอยู่หลายเรื่อง อย่างกรณีโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอองซานซูจีในเวทีโลก ร่วมถึงในระดับพื้นที่

“รัฐยะไข่  มีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตไปจำนวนมาก แต่ว่าอองซานซูจีกลับมีท่าทีที่คลุมเครือ ไม่ปกป้องชาวโรฮีนจา เพราะไม่ต้องการเสียคะแนนนิยมจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่

“ทำให้นานาชาตินประณามอองซานซูจี จนถึงขึ้นมีการเสนอให้ถอดถอนออกจากรางวัลที่ได้รับมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การสนับสนุนอองซานซูจีในระดับนานาประเทศ ได้ผันแปรไปแล้ว”

ปัจจัยที่ 3 การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของอองซานซูจี

ปัจจัยสุดท้าย ก็คือผลการเลือกตั้งเมียนมาในครั้งล่าสุด ที่คาดว่า พรรคของอองซานซูจีจะได้รับคะแนนลดลง แต่กลับชนะอย่างถล่มทลาย จนสร้างความกังขาให้กับกองทัพ และใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ โดยกล่าวหาว่า มีการโกงเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 2 นับจากเปิดประเทศ) ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องของบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

“ก่อนการเลือกตั้งเมียนมาครั้งล่าสุด คาดกันว่า คะแนนนิยมของอองซานซูจีจะลดลงเยอะ แต่ผลออกมาว่าพรรคเอ็นแอลดีได้รับเลือกตั้งสูงถึง 83 % ส่วนพรรคที่กองทัพสนับสนุน ได้ไม่กี่ที่นั่ง

“จึงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นในหมู่ทหารว่า มีการโกงเลือกตั้งหรือไม่ โดยหยิบยกประเด็นรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ครบ มากล่าวหา

“ซึ่งเรื่องนี้ กกต.ของเมียนมาก็ยอมรับว่า เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นจริง เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยหลากหลายและจำนวนมาก การจัดทำบัญชีรายชื่ออาจจะไม่รัดกุม ทำให้ทหารกดดันให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อใหม่ แต่ กกต.เมียนมา ปฏิเสธ

“แล้วกองทัพก็ต้องการให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป แต่พรรคเอ็นแอลดี ก็ปฏิเสธเช่นกัน ก่อนหน้านั้นก็มีการเจรจาหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลว ทำให้เกิดการควบคุมตัวอองซานซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั่วประเทศ”

ทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ว่า ส่งผลให้สถานภาพของอองซานซูจี และพรรคเอ็นแอลดี สั่นคลอน ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ จนนำไปสู่การยึดอำนาจในที่สุด

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

ท่าทีจากมหาอำนาจ ต่อการยึดอำนาจในเมียนมา  

ส่วนการตอบโต้การยึดอำนาจของเมียนมา จากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ดังนี้

“นานาชาติไม่ได้สนับสนุนอองซานซูจีอย่างชัดเจน เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากความสัมพันธ์ระยะหลังไม่ค่อยดี แต่วันนี้สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป เพราะหลังจากกองทัพยึดอำนาจ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้แถลงว่า จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาตอบโต้

“ผมเข้าใจว่า สถานการณ์ตรงนี้ท้าทายสหรัฐฯ ให้ต้องโต้ตอบอะไรบางอย่าง ต้องมีบทบาทบางอย่าง สหรัฐไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะถ้าเมียนมากลับไปเป็นประเทศเผด็จการทหาร ก็จะสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบใหญ่ของจีน ที่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

“แต่คิดว่าสหรัฐฯ คงไม่เดินตามลำพัง อาจใช้เวลา 1 -2 วัน เพื่อล็อบบี้ประเทศต่างๆ แล้วมีแถลงการณ์ร่วมกับสหภาพยุโรป ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย รวมทั้งออสเตรเลีย ที่จะออกมาตอบโต้พร้อมๆ กัน”

“ในขณะเดียวกันกองทัพเมียนมา ก็มีความระมัดระวัง จึงยังไม่ประกาศชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมด แต่ในภาพรวมก็อาจเป็นไปได้ว่า กองทัพพยายามจะลดแรงกดดันจากนานาประเทศ ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้ หรือภายใน 1 ปี แต่จะจริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป”  

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

ผลกระทบกับไทย และท่าทีที่เหมาะสม

ส่วนผลกระทบกับไทย ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา รวมถึงท่าทีที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น รศ.ดร.ปณิธาน ได้กล่าวว่า

“สำหรับประเทศไทย ก็อาจต้องเตรียมควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ (ของเมียนมาในไทย) ที่อาจจะส่งผลให้เกิดความผันแปรตามชายแดน รวมถึงเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ของเมียนมา ที่จะทะลักเข้ามาในไทย

“และต้องประเมินว่า อาเซียนมีท่าทีอย่างไร แต่คงไม่มีท่าทีที่เข้มข้น หรือต่อต้านชัดเจน เพราะอาเซียนก็มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

“ส่วนไทยก็ต้องรักษาทีท่าไว้ให้ดี ให้เป็นท่าทีที่สมดุล แล้วโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันหาทางออก เพื่อคลี่คลายสถานการณ์”

3 ปัจจัย ยึดอำนาจอองซานซูจี เมียนมาต้องนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

เมียนมาจะถอยกลับไปปิดประเทศ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หรือไม่ ?

อีกประเด็นที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก ก็คือการยึดอำนาจครั้งนี้ จะส่งผลให้เมียนมากลับไปเป็นประเทศที่ปกครองในรูปแบบเผด็จการทหารเข้มข้น จนถึงขั้นปิดประเทศอย่างในอดีตหรือไม่นั้น รศ.ดร.ปณิธาน ได้แสดงความคิดเห็นว่า ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของชาวเมียนมา เป็นสำคัญ

“ผมคิดว่าจะต้องดูปฏิกิริยาของประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว การกลับไปปิดประเทศอีกในรูปแบบเดิม อาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น แต่ถ้าทางฝ่ายทหารมีข้อเสนอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แล้วประชาชนตอบรับ ก็อาจทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้นได้

“แต่ถ้าทางฝ่ายทหารมองว่า เขาไม่สามารถที่กลับไปมีอำนาจแบบเดิมได้ (ช่วงปิดประเทศ) ก็อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในกรอบเวลา 1 ปี นั่นก็หมายความว่า พม่าจะไม่กลับไปเป็นเผด็จการแบบปิด แต่ว่าจะเข้ามาสู่กระบวนการประชาธิปไตย แบบเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน (ช่วงเปิดประเทศ และให้มีการเลือกตั้ง)

“โดยสรุปก็คือ ยากที่เมียนมาจะกลับไปปิดประเทศ ที่ไม่มีการเปิดกว้างทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก จึงเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถอยกลับไปตั้งหลัก แต่ก็ไม่ถึงขั้นปิดประเทศทั้งหมด

“และผมคิดว่าในอนาคต การเติบใหญ่ของแนวคิดเสรีนิยม คนเมียนมาที่อายุไม่มาก แล้วเห็นว่าระบบเปิดของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทย ก็จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้เมียนมาไม่สามารถถอยหลังกลับไปไกลกว่านี้ได้มากนัก”

related