svasdssvasds

น้ำท่วมขังใน กทม. เรื่องธรรมชาติ หรือปัญหาที่แก้ไม่ตก

น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหม่คนของกรุง แต่เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าเพราะอะไรถึงไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อไหร่กรุงเทพน้ำจะเลิกท่วม !

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย หลายจังหวัดเผชิญปัญหาน้ำท่วม ชาวกรุงเทพฯ เองก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ น้ำจะเข้ากรุงเมื่อไหร่ ต้องเจอปัญหาน้ำค้างท่อรอการระบาย ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือต้องชินและอยู่กับสถาการณ์น้ำท่วม เพราะดูเหมือนจะเจอเป็นปกติ ลองมาทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกัน เผื่อจะทำให้เข้าใจปัญหานี้มากขึ้น

น้ำท่วมขังใน กทม. เรื่องธรรมชาติ หรือปัญหาที่แก้ไม่ตก ปัจจัยและสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ

แหล่งที่มาของน้ำก่อนจะกลายเป็นน้ำท่วม มีอยู่ 3 แหล่ง คือน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากทะเล ถ้าทั้งสามส่วนนี้มีจำนวนมากก็ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่มากพอจะท่วมกรุงเทพฯได้ ส่วนสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจาก 3 เรื่องคือ

1. คนเยอะ เมืองขยาย ต้นไม้น้อย ประชากรในกรุงเทพฯหนาแน่นมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อประชากรหนาแน่น ก็เกิดการขยายตัวของที่อยู่อาศัย ถมที่ดินเพื่อสร้างตึกรามบ้านช่อง อาคาร หมู่บ้าน เส้นทางระบายน้ำอาจถูกกลบทับกลายเป็นเส้นทางจราจรแทน และต้นไม้ในเมืองก็ลดน้อยลงไปทุกที

2. ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ ในกรุงเทพฯ มีขยะมูลฝอยกว่าหมื่นตันต่อวัน นอกจากจำนวนที่มาก ยังมีเรื่องของการไม่คัดแยกขยะ รวมทั้งการทิ้งขยะไม่ลงถัง ปลายทางของขยะที่ทิ้งก็อาจลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้ขยะ สะสมอยู่ตามท่อระบายน้ำ พอฝนตกจนมีปริมาณน้ำมาก การระบายน้ำก็ไม่สามารถระบายได้ทัน 

3. ฝนตกหนักและดินทรุดลง ด้วยภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำ และบางพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ไม่สามารถระบายน้ำเองได้ ต้องใช้วิธีสูบน้ำออก สาเหตุก็มาจากพื้นดินที่ทรุดลงไปจากการก่อสร้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

แต่ละพื้นของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมไม่เท่ากัน ตัวแปรสำคัญคือระดับความสูง-ต่ำของพื้นที่ ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว พื้นที่กรุงเทพฯ จะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1-1.5 เมตรเท่านั้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่หนักมีอยู่ 12 เขต คือตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ดอนเมือง บางเขน สายไหม หลักสี่ จตุจักร และคลองสามวา

" ผลกระทบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ จึงกลายเป็นนโยบายและความท้าทายของกรุงเทพฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการน้ำ จะทำอย่างไรไม่ให้กรุงเทพฯจมน้ำ " 

ระบบการบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำต่างๆที่สามารถรองรับน้ำของกรุงเทพฯ มีศักยภาพแค่ไหนอาจเป็นคำถามตั้งต้น ที่เป็นทางออกของการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ 

คุณเอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กับประเด็นปัญหาน้ำท่วม และการวางแผนบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพฯ คุณเอิร์ธ กล่าวว่า " ด้วยการเติบโตของเมือง ความหนาแน่นของประชากร รวมทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ รวมทั้งอิทธิพลปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ส่งผลให้กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกรุงเทพฯ มีการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งแก้ปัญหาทางโครงสร้าง และการรับมือปัญหาทางธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนและสอดรับกับบริบทการพัฒนาเมือง "

 

น้ำท่วมขังใน กทม. เรื่องธรรมชาติ หรือปัญหาที่แก้ไม่ตก

กรุงเทพฯ วางแผนสู้น้ำท่วม 

โดยวางระบบการระบายน้ำให้พร้อมและระบายน้ำได้ดีขึ้น รวมถึงใช้เวลาในการระบายน้ำได้รวดเร็วและไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน สร้าง Pipe jacking หรือท่อเร่งระบายน้ำขนาดใหญ่ เมื่อฝนตกน้ำท่วมขังบนถนน น้ำจะไหลลงสู่ท่อเร่งระบายน้ำขนาดใหญ่ เร่งระบายน้ำออกจากบนถนน ส่งต่อไปยัง Water Bank หรือธนาคารน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ที่ช่วยให้น้ำระบายลงใต้ดินเร็วขึ้น ก่อนไหลลงอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำผลักดันน้ำเหมือนมีแม่น้ำอยู่ใต้ดิน และไหลออกสู่แม่น้ำหรือทะเลได้เร็วขึ้น

 

อุโมงค์ยักษ์ ที่เหมือนมีแม่น้ำอยู่ใต้ดินช่วยระบายน้ำออก เปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์สาย 2 อุโมงค์ระบายน้ำมักกะสัน อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ และจะมีอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อใช้ระบายน้ำจากบึงรับน้ำหนองบอนที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำจากเขตประเวศ สวนหลวง และพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านทางอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดินที่ทอดแนวยาวไปตามลำคลองและถนน มีความยาวถึง 9.5 กม. ตลอดแนวอุโมงค์ยักษ์ มีจุดรับน้ำเพื่อระบายลงอุโมงค์ยักษ์ 7 จุด ทั้งอาคารรับน้ำที่อยู่ในคลองที่ระบายน้ำได้ทันทีหากน้ำในคลองมีระดับสูงขึ้น และปล่องรับน้ำบนถนนที่รองรับน้ำจากท่อระบายน้ำและ Pipe Jacking ที่น้ำจะไหลลงอุโมงค์ยักษ์ได้ทันที 

 

กรุงเทพฯ เตรียมการขุดลอกท่อระบายน้ำและเก็บขยะในคูคลอง ไม่ให้สิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณปากประตูระบายน้ำอุโมงค์ เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำ เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่ในจุดที่เป็นแอ่งกระทะ เร่งแก้ไขน้ำท่วมขังทันทีเมื่อมีน้ำท่วม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำบนดิน หรือแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ก่อนเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำ 

 

ปี 64 นี้ จะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 54 หรือไม่

น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่งผลให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 77 จังหวัด รวมกรุงเทพฯด้วย มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย บ้านเรือนเสียหาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย ถนนเสียหาย แน่นอนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก คุณเอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า " สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในกรุงเทพฯ เกิดจากได้รับปริมาณน้ำเหนือ คือฝนตกที่ภาคเหนือและสมทบมาที่กรุงเทพฯ รวมทั้งเกิดจากระบบและแผนการระบายน้ำโดยรวม " รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น

ดูคลิปเต็มที่ลิงค์ด้านล่าง และสามารถติดตามรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30 - 10.00 น. ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 และสปริงออนไลน์

related