SHORT CUT
เซีย จำปาทอง วิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทยไม่จริงใจต่อแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทยังไม่เกิดขึ้นจริง และแรงงานนอกระบบถูกละเลยอย่างต่อเนื่อง
โครงสร้างแรงงานไทยเอื้อ "นายหน้า" มากกว่า "คนทำงาน" ปัญหาระบบจ้างเหมาช่วง เบี้ยวค่าแรงหลายชั้น จนคนงานแทบไม่เหลือเงิน พร้อมเสนอให้ยกเลิกระบบนี้ และส่งเสริมสิทธิการรวมตัวต่อรอง
ขาดเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่ขาดข้อมูล เซียเน้นว่า รัฐบาลมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ขาดความกล้าและจริงใจในการผลักดันกฎหมายแรงงานเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้น
จากแรงงานในเรือประมง สู่สภาผู้แทนราษฎร “เซีย จำปาทอง” เปิดใจในวันแรงงานที่ผู้มีอำนาจยังไม่ได้ยินเสียงคนทำงาน หรือเห็นพวกเขาเป็นเพียงจำนวนนับเพื่อก้าวสู่อำนาจ?
“เขาหาเสียง เราหาเช้ากินค่ำ”
“เซีย จำปาทอง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน คือภาพแทนของความรู้สึกของแรงงานไทยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 วันที่ยังไม่มีคำตอบเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่เคยเป็นคำมั่นสัญญาในการเลือกตั้ง
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่าจะปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็น 600 บาทภายในปี 2570 และเริ่มต้นที่ 400 บาททั่วประเทศภายในปี 2568 แต่วันนี้ กลับไม่มีการปรับขึ้นตามที่เคยให้คำมั่นไว้
“เซีย จำปาทอง” ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความจริงจังของรัฐบาล
“พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่กลับไม่เลือกดูแลกระทรวงแรงงานเอง ปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยที่ไม่มีนโยบายแรงงานแม้แต่นโยบายเดียวมารับผิดชอบ”
นอกจากนี้ ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในวันแถลงนโยบายของทั้งนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร ทั้งที่นี่เป็นเรื่องที่แรงงานทั่วประเทศเฝ้ารอ
“แม้แต่ 400 บาท ยังไม่เท่ากันทั่วประเทศ” เซียบอก
ล่าสุด การปรับขึ้นค่าแรงแบบใหม่ที่รัฐบาลประกาศ คือ “ปรับรายตำบล” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การบริหารแรงงานไทย แม้แต่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เคยประกาศขึ้นจาก 215 เป็น 300 บาท ยังไม่มีการปรับแบบนี้
“นี่ไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรือเศรษฐกิจ แต่มันคือเรื่องของเจตจำนงรัฐบาล”
เมื่อถามถึงกระบวนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เซียอธิบายว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ “คณะกรรมการไตรภาคี” ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง
แต่ในหลายครั้ง การประชุมกลับล่มเพราะ “ฝ่ายรัฐ” ไม่เข้าร่วมเอง เช่น ตัวแทนจากกระทรวงแรงงานที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ กลับไม่มาปรากฏตัวในห้องประชุม
“รัฐพูดว่าจริงใจ แต่การกระทำสวนทางกันชัดเจน”
เซียยังชี้ให้เห็นว่า แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเพิกเฉยคือ “แรงงานนอกระบบ” โดยเช่น พนักงานไรเดอร์ ซึ่งไม่มีประกันสังคม ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนหากเกิดอุบัติเหตุ
แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะมีมติว่าไรเดอร์ควรได้รับสิทธิ์ในฐานะ “ลูกจ้าง” แต่กระทรวงแรงงานกลับยังไม่ดำเนินการใดๆ อย่างชัดเจน
“บางบริษัทบอกว่าไรเดอร์เป็น Partner แต่เวลาปรับลด GP กลับไม่เคยปรึกษา”
เขาย้ำว่า ระบบกฎหมายแรงงานของไทย “โตไม่ทัน” กับพลวัตการจ้างงานสมัยใหม่ เช่น แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่ไรเดอร์ต้องรับภาระความเสี่ยงเองทุกอย่าง ทั้งที่ความสัมพันธ์ในการทำงานชัดเจนว่าเป็น “ลูกจ้าง” ในเชิงโครงสร้าง
หนึ่งในเรื่องราวที่สะเทือนใจที่สุดที่เซียเล่าในรายการคือ วันที่เขาเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ “ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม” และพบแรงงานที่วิ่งหนีตาย บางคนยังหาคนรักไม่เจอ บางคนหมดสติอยู่ข้างถนน
นอกจากนี้ยังมีกรณีแรงงานพิการและหญิงตั้งครรภ์ ที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้เงินชดเชยด้วย
“คนพวกนี้เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว วันนี้กลับถูกทอดทิ้ง ไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว”
อีกปัญหาที่เป็นโครงสร้างสำคัญคือ “ระบบจ้างเหมาช่วง” ซึ่งเซียบอกว่าเปรียบเหมือน “นายหน้ากินหัวคิว” หลายต่อ จนถึงคนงานตัวจริงที่แทบไม่ได้รับอะไรเลย
“บริษัทต้นทางจ่ายร้อย บริษัทที่ 2 หัก 10 บริษัทที่ 3 หักอีก 10 ไปเรื่อยๆ จนคนงานได้ไม่ถึงครึ่ง”
เขาเสนอให้มีการยกเลิกการจ้างงานแบบนี้ แต่ร่างกฎหมายที่เสนอไปกลับถูกปัดตกมาแล้วหลายรอบ
เซียระบุว่า จนถึงตอนนี้เขายื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานไปแล้วกว่า 9 ฉบับ เช่น
แต่ผ่านเพียง 1 ฉบับในวาระแรก คือร่างกฎหมายลาคลอด 180 วัน ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
เมื่อถูกถามว่า ถ้าได้เป็นรัฐมนตรีแรงงาน สิ่งแรกที่อยากทำคืออะไร? เซียตอบว่า จะเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำทันที พร้อมช่วยนายจ้างรายย่อย เช่น ลดภาษี หรือลดเงินสมทบประกันสังคมชั่วคราว เพื่อประคองธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน
และอีกเรื่องคือ “ส่งเสริมสิทธิการรวมตัว” ของแรงงาน ให้สามารถต่อรองร่วมกับนายจ้างได้อย่างเป็นธรรม
“ถ้าคนงาน 1,000 คนไม่มีตัวแทนไปคุยกับนายจ้าง เขาจะคุยยังไง?”
“แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นคนที่สร้างประเทศ แต่กลับถูกเพิกเฉยอย่างไม่น่าให้อภัย”
เซียปิดท้ายว่า รัฐบาลไทยมีข้อมูล ข้อเสนอ และงานวิจัยอยู่แล้วมากมายบนโต๊ะ แต่สิ่งที่ขาดคือ “ความจริงใจ” และ “ความกล้า” ที่จะขับเคลื่อน
“ไม่ต้องเอาเครดิตให้ผมก็ได้ แค่ขอให้กฎหมายพวกนี้ถูกผลักดันให้เป็นจริง เพื่อให้คนทำงานได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเสียที” เซีย ทิ้งท้าย