SHORT CUT
จากการที่นำไอเดียจากการนำไวนิลมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนเครือข่าย นำไปสู่โอกาสในการทำชุดจากเศษวัสดุเหลือใช้ให้กับผู้เข้าประกวด Miss Universe ขอนแก่น
ในปัจจุบันที่หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน แต่กลับมองข้ามปัญหาของเศษขยะ พี่เก่ง หรือ ณัฐวุฒิ ศรีอาจ ประธานวิสาหกิจทุ่งเศรษฐีขอนแก่น ที่มีไอเดียในการนำไวนิลมาสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ จนสร้างรายได้และให้กับตนเองและชุมชน
ณัฐวุฒิ ทำแบรนด์ Kennely และแบรนด์ NUTTA ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ เดิมที่เคยเป็นคนเย็บกระเป๋ามาก่อน พอในช่วงปี พ.ศ.2555 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น สิ่งที่ไหลมากับน้ำก็คือพวกป้ายไวนิล ถุงพลาสติกและสิ่งต่างๆ และเกิดความคิดที่อยากจะช่วยกำจัดวัสดุเหล่านี้ยังไงเพื่อไม่ให้ไปอุดตันตามท่อหรือแหล่งน้ำต่างๆ จึงเกิดไอเดียลองนำเศษวัสดุเหล่านี้นำมาขึ้นรูปเป็นกระเป๋าตามความเชี่ยวชาญของตนเอง พอทำออกมาก็กลายเป็นว่ามีหลายคนชอบ ควบคู่กับในช่วงนั้นมีการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและมีแบรนด์ในต่างประเทศเริ่มทำสิ่งนี้เหมือนกัน ในช่วงนั้นก็มีออเดอร์เข้ามาเดือนละ 4,000-5,000 พันใบ ในช่วงนั้นก็ถืออยู่ในช่วงขาขึ้น พอเจอเข้ากับวิกฤติโควิดก็ต้องหยุดลง
ในช่วงนั้นก็มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเรียน พนักงานบริษัท บริษัท หรือหน่วยงานราชการ เข้ามาอุดหนุนด้วยความที่นำวัสดุหลังการใช้งานของหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านการออกแบบมาแล้วอย่างดีและใช้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ทิ้งไป หลายหน่วยงานจึงนิยมซื้อเป็นของที่ระลึก ห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็ให้ป้ายไวนิลมาและนำไปเป็นของกำนัลให้กับลูกค้า และตัวของเขาเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดักขยะต้นทาง โดยไม่ให้ขยะเหล่านี้ไปปนเปื้อนกับขยะมูลฝอยประเภทอื่น จึงนำความเชี่ยวชาญของตนเองเข้าไปผสมเพื่อจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสิ่งแวดล้อม
“ถ้าทิ้งไปมันก็จะไปปนเปื้อนกับดิน ฟ้า อากาศ ถ้าหากเราเอามาเพิ่มมูลค่าผ่านการออกแบบ มันก็จะมีคุณค่าทางใจมากกว่า”
ก่อนจะได้มีโอกาสได้มาทำชุดของผู้เข้าประกวด พี่เก่งเล่าว่า พอในช่วงที่หลายคนและหน่วยงานต่างๆ เริ่มตระหนักถึงภาวะโลกเดือด ที่เห็นได้จากในปัจจุบันที่หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องของภาวะโลกร้อน จากพฤติกรรมและการรับรู้ผ่านสื่อ ทางกองประกวดก็ได้ติดต่อไปที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานก็แนะนำว่าอยากให้ออกแบบชุดของผู้เข้าประกวด Miss Universe ขอนแก่น โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ในการทำชุด พอเราไปเห็นชุดนางงามในเวที Miss Universe ที่ตนเองเป็นคนออกแบบมันยิ่งทำให้คิดว่า สิ่งที่ทำมันถูกแล้ว
“ตอนที่เราผลิตเรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แล้วเราก็มี Waste ของเราเอง เราก็เลยนำ Waste ของเรามาทอและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งชุดนางงาม”
ในตอนแรกที่เราได้รับป้ายไวนิลมา ก็นำมาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ตกลงเรื่องรูปแบบและรายละเอียดกับลูกค้า พอได้รายละเอียดที่ครบถ้วน ก็เชิญชุมชนต่างๆ เข้ามาประชุม ชุมชนไหนมีความเชี่ยวชาญทางด้านไหนก็นำไปทำ หากไม่มีความเชี่ยวชาญก็จะมีการสอนงานเพื่อเป็นการกระจายความรู้ให้กับชุมชนนั้นๆ อีกทั้งยังสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย พี่เก่งยังเล่าต่อว่า การทำผลิตภัณฑ์จากป้ายไวนิลเหล่านี้มีความยากกว่าการทอฝ้ายแบบปกติหลายเท่า เพราะจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือใหม่ขึ้นมาทั้งหมด เพื่อรองรับวัสดุใหม่ๆ
“อยากจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับทั้งเราเองและชุมชนเครือข่าย และทั้งสามสิ่งนี้เองที่ทำให้เรามองว่าจะทำผลิตภัณฑ์ใดที่จะออกมาตอบโจทย์สามสิ่งนี้”
“เราก็เรียนผิดเรียนถูก เรียนรู้เรียนแก้ เราพยายามทำสิ่งไร้ค่าให้เกิดมูลค่า ทั้งการกระจายรายได้ และการรักษาสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องไปได้ด้วย”
พี่เก่งเล่าว่า เราต้องมองบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างทุ่งเศรษฐีที่เป็นชุมชนเมือง สิ่งที่ใกล้วตัวที่สุดคือป้ายไวนิล ซึ่งหากมองว่าต้นทุนเป็น 0 ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะต้นทุนในการทำผลิตภัณฑ์ออกมาหนึ่งอย่างก็มีทั้งค่าแรง ค่าน้ำมันต่างๆ อีกด้วย และในส่วนของเรื่องราคาก็อยากให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่า วัสดุที่ทำขึ้นมาไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนั้น เพราะเรื่องต้นทุนราคามันก็มีคุณค่าในตัวมัน เพราะมันเป็นงานที่ต้องทำการบ้าน เป็นงานที่แก้ปัญหาให้กับสังคมควบคู่ไปด้วย และตัวผลิตภัณฑ์ก็มีคุณค่าในการส่งมอบ
"ของเหล่านี้มันไม่ได้เป็นที่ต้องการของใครอยู่แล้ว แต่เราสามารถเสกสิ่งเหล่านี้ให้มีมูลค่า ด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเรา"