svasdssvasds

สบยช. กรมการแพทย์ เตือน "ดื่มต้องไม่ขับ" ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

สบยช. กรมการแพทย์ เตือน "ดื่มต้องไม่ขับ" ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือน "ดื่มต้องไม่ขับ" ร่วมรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคม ระวังผลกระทบอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด 

ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมาเซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหารซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆของร่างกายอีกมากมายทำให้เกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ดื่มทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดอาการทางจิตได้ โดยพิษของสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย หลังการดื่มอย่างหนักเช้าตื่นมาจะเมาค้าง ทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว และพิษแบบเรื้อรัง ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง การดื่มสุราเป็นระยะเวลานานทำให้เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงเสียการงาน 

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การเมาแล้วขับยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ฝากถึงผู้นิยมดื่มสุรา ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคม ไม่เพียงแต่เมาไม่ขับ แต่หากมีการดื่มต้องไม่ขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ทั้งนี้ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ดื่มสุรา หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดสุรา เช่น มีความอยากดื่มสุราในปริมาณมากขึ้น ไม่ได้ดื่มจะมีอาการมือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ มีความต้องการเลิกดื่มสุราหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ หมกมุ่นกับการดื่มสุราหรือการหาสุรามาดื่ม เสียหน้าที่การงาน และยังดื่มสุราทั้ง ๆ ที่มีอาการป่วยซึ่งแสดงว่าหยุดดื่มไม่ได้ ให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th 

related