svasdssvasds

สมาคมฯ ชี้แจงข้อประเด็นต่างๆ ในนัดชิงชนะเลิศ ช้าง เอฟเอ คัพ 2019

สมาคมฯ ชี้แจงข้อประเด็นต่างๆ ในนัดชิงชนะเลิศ ช้าง เอฟเอ คัพ 2019

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชี้แจงข้อสงสัยจากเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลถ้วยช้าง เอฟเอ คัพ 2019

ตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ดำเนินการจัดการแข่งขัน ฟุตบอลถ้วยช้าง เอฟเอ คัพ 2019 นัดชิงชนะเลิศ โดยมีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. กรณีเปลี่ยนสนามแข่งขันเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย ช้าง เอฟเอคัพ 2019

ข้อที่ 1 เดิมผู้สนับสนุนกำหนดสนามนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย ช้าง เอฟเอ คัพ 2019 ไว้ที่สนามสุพรรณบุรี สเตเดียม

ข้อที่ 2 เมื่อทราบคู่ชิงชนะเลิศแล้ว ผู้สนับสนุนขอเปลี่ยนสนาม เพื่อความเหมาะสมและความสะดวกในการเดินทางของแฟนบอลทั้งสองสโมสร ซึ่งได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะย้ายมาแข่งในโซน กทม.และปริมณฑลแทน

ข้อที่ 3 ผู้สนับสนุน พิจารณาเลือกสนามแข่งขันที่สนามกีฬากองทัพบก โดยมีอีก 2 สนาม คือ สนามไทยญี่ปุ่นดินแดง และสนามบีจี ปทุม เป็นตัวเลือกสำรอง

ข้อที่ 4 ระหว่างรอการพิจารณาเลือกสนามแข่งขันจากผู้สนับสนุน สมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้ VAR ในเกมนัดชิงชนะเลิศดังกล่าว สมาคมฯ จึงได้เตรียมความพร้อมและวางระบบ เพื่อทดสอบการใช้ VAR สำหรับสนามที่จะใช้ทำการแข่งขันที่สนามกีฬากองทัพบกก่อน

ข้อที่ 5 เมื่อได้รับแจ้งจากสนามกีฬากองทัพบก ว่าสนามไม่สามารถใช้ได้ สุดท้ายได้ข้อสรุปที่สนามบีจี ปทุม

ข้อที่ 6 สมาคมฯ จึงเตรียมความพร้อมจัดการแข่งขัน และทดสอบการใช้ VAR ที่สนามบีจี ปทุม

2.กรณีข้อสงสัยว่าทำไมจึงใช้กรรมการชุดนี้ตัดสินในสนาม และในห้อง VAR

ข้อที่ 1 ตามที่ทราบกันดีว่าเกมนัดชิงชนะเลิศดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้เทคโนโลยี VAR แบบเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก

ข้อที่ 2 ผู้ตัดสิน และผู้ช่วยผู้ตัดสินของไทย เข้าอบรมและทดสอบเก็บชั่วโมงในการใช้ VAR จากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะและอยู่ในช่วงของการพิจารณาใบอนุญาตการทำหน้าที่

ข้อที่ 3 การเลือกผู้ตัดสินทำหน้าที่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ตัดสินในสนาม และผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในห้อง VAR

ข้อที่ 4 สมาคมฯ ได้สอบถามไปยัง เดวิด เอลเลเรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ IFAB ที่ทำการอบรมการใช้เทคโนโลยี VAR ตามโครงการ VAR Training Thailand ให้กับผู้ตัดสินชาวไทยเสร็จสิ้นไป โดยได้รับคำแนะนำว่า เกมนัดชิงเอฟเอ คัพ เป็นเกมสำคัญและเกมแรกที่ใช้ VAR ผู้ทำหน้าที่ในห้อง VAR จะต้องมีความชำนาญ และที่มีความเหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้ โดยได้รับคำแนะนำ ดังนี้

1. ผู้ตัดสินในสนาม คือ ชัยฤกษ์ งามสม

2. ผู้ทำหน้าที่ VAR คือ ศิวกร ภูอุดม เป็นผู้ที่มีความรู้และชำนาญมากที่สุดในการใช้ VAR และการสื่อสารกับผู้ตัดสินในสนามแข่งขัน

3. ผู้ทำหน้าที่ AVAR1 คือ ราวุฒิ นาคฤทธิ์ เป็นผู้ช่วยผู้ตัดสินที่มีความรอบรู้และชำนาญในการทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินในห้อง VAR

4. ผู้ทำหน้าที่ AVAR2 คือ ต่อพงษ์ สมสิงห์ เป็นผู้ที่ช่วยตรวจสอบเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เข้าข่ายตามข้อกำหนดการเรียกใช้ VAR

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะต้องยืนยันรายชื่อผู้ทำหน้าที่ในเกมดังกล่าวภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ทาง IFAB รับรองสำหรับแมตช์ทางการครั้งนี้ล่วงหน้า

3. กรณีการฝึกซ้อม Official Training ในสนามแข่งขันจริง

ข้อที่ 1 ตามข้อกำหนดของระเบียบจัดการแข่งขันนั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันได้รับมอบสนามก่อน 2 วัน และมีการดำเนินตามระเบียบอย่างเคร่งครัดในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อที่ 2 ฝ่ายจัดการแข่งขันได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของระเบียบจัดการแข่งขัน โดยทั้ง 2 สโมสร ลงฝึกซ้อม Official Training ระยะเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนวันแข่งขัน 1 วัน เพียง 1 ครั้ง เท่านั้น

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ที่มา : FA Thailand

related