svasdssvasds

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

การส่งเสริมชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าชายเลน จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและปัญหาที่แท้จริงของชุมชน หากสามารถทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในชุมชนได้ นั่นจะทำให้การทำงาน หรือการอนุรักษ์นั้นเป็นไปได้แบบยั่งยืน

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านสังคมชุมชนเพื่อเป็นการสนองตามแนวพระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 ความว่า

“ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย” พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9  

ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี จึงได้ดำเนินงานผลักดันให้ป่าชายเลนในพื้นที่ เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าชายเลน นำไปสู่การอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 

ชุมชนปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับป่าชายเลนมาตั้งแต่อดีต โดยในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านก็จะมีการนำพันธุ์ไม้ หรือพืชสมุนไพรในป่าชายเลน มาใช้เพื่อมาบรรเทาอาการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาเหล่านั้นกำลังถูกลบเลือนหายไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก 2 สาเหตุ ดังนี้

  1. ด้านวัตถุดิบ หรือพืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่คนรุ่นก่อนใช้กันนั้น ในปัจจุบันหายาก และลดน้อยลงเรื่อยๆ 
  2. ความยุ่งยากของการที่จะนำพันธุ์ไม้มาใช้ ต้องไปขุด นำมาต้ม ซึ่งอาจไม่เหมาะกับวิถีชีวิต ณ ปัจจุบัน ซึ่งถูกทดแทนด้วยเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่สะดวกกว่าและมีหลากหลาย จึงทำให้ภูมิปัญญาตัวนี้เลือนหายไป 

2 เหตุผลข้างต้นนี่เอง ที่ทำให้คนในชุมชนค่อยๆ ห่างจากป่าชายเลนไปเรื่อยๆ

ปตท.

คมสัน หงภัทรคีรี ผู้จัดการศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี กล่าวว่า ตอนที่ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ท่านมีพระราชดำรัสให้ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ปลูกป่าแล้วต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย” นี่จึงเป็นโจทย์หนึ่งที่ทางศูนย์ฯ สิรินาถราชินี เราจะทำอย่างไรให้คนได้เห็นถึงคุณค่าของป่าชายเลน และทำให้วิถีชีวิตเขายังคงผูกพันกับผืนป่าอยู่ เราเลยคิดถึงเครื่องมือหนึ่ง นั่นคือ ต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวเขาก่อน จึงได้ทำการรวบรวมภูมิปัญญาของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ปากน้ำปราณ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พืชสมุนไพรในการบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การนำเอาต้นสำมะง่ามาต้มอาบ เมื่อก่อนคนเฒ่าคนแก่เขาใช้แก้คันได้ หรือใช้พวกใบขลู่มาต้มดื่ม ช่วยทำให้ลดน้ำตาลในเลือด นี่คือภูมิปัญญาที่มีอยู่ในอดีตที่ค่อยๆ เลือนหายไป

เรารวบรวมภูมิปัญญาเหล่านี้ แล้วนำมาสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ เช่น ชาวบ้านเขาบอกกล่าวว่าใบชนิดนี้สามารถแก้คันได้ เราก็ไปดูรายงานการวิจัยว่า สารอะไรที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จากนั้นเราก็ลองใช้การสกัดแบบง่ายๆ ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ อย่างบางชนิดเป็นสารละลายอิควล เราก็จะใช้ตัวทำละลายที่มีขั้ว เช่น พวกหัวกะทิ หรืออะไรต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ที่ไม่ใช่สารเคมี และเราก็ทำการทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการก่อน จนได้ส่วนผสมที่คิดว่าลงตัวแล้ว จึงเปิดอบรมถ่ายทอดให้กับชุมชน” 

ปัญหาหนึ่งที่พบหลังศูนย์ฯ สิรินาถราชินี เปิดอบรมให้กับชุมชน คือ เมื่อจบการอบรมแล้ว สิ่งที่ถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านไปมักไม่ค่อยถูกเอาไปใช้ต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่จะจบไปพร้อมกับการอบรม เป็นปัญหาที่ทำให้ขบคิดว่าเป็นเพราะเหตุผลใด ซึ่งคำตอบนั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงพื้นฐานวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วยว่า ชาวบ้านไม่มีความถนัดในเรื่องของการตลาด หรือ การประชาสัมพันธ์ รวมถึงวิถีชีวิตของเขาที่ไม่ค่อยมีเวลา นี่จึงเป็นที่มาในการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยการจัดตั้งเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ป่าชายเลนปากน้ำปราณ เพื่อที่จะรับผู้ที่ผ่านการเข้าอบรมเข้ามาเป็นสมาชิก ช่วยพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมเรื่องของการตลาด เมื่อชาวบ้านได้เริ่มทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติป่าชายเลน เขาก็จะเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน เขาก็จะเห็นถึงคุณค่าของวัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรป่าชายเลนที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ขึ้นว่า หากเขาจะใช้ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ก็จำเป็นต้องไปเริ่มปลูก ดูแล อนุรักษ์ จึงเป็นเครื่องมือให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

สิ่งดีดีที่เกิดขึ้นจากการลงไปทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง

ผู้จัดการศูนย์ฯ สิรินาถราชินี กล่าวว่า เราทำงานตรงนี้จริงจังมาประมาณ 2 ปีแล้ว ณ ปัจจุบันส่วนของการกระจายรายได้สู่ชุมชนก็สามารถกระจายรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี เกิดจากการทำปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่มาจากป่าชายเลน กระจายไปที่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อีกส่วนหนึ่งก็คือ ความเข้าใจในทรัพยากร เขาก็จะเริ่มรู้จักแล้วว่าพืชเหล่านี้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเขามีคุณค่า มีศักยภาพที่จะทำให้วิถีชีวิตเขาดีขึ้น ปัจจุบันเราก็จะมีกลุ่มเหล่านี้เข้ามาช่วยปลูกเสริมพันธุ์ไม้ชายเลนต่างๆ ที่เขาต้องใช้ และเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงสิ่งที่เราทำเริ่มมีคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยมาขอให้ทางศูนย์ฯ เปิดอบรมรอบเพิ่มมากขึ้น เชิญไปเป็นวิทยากรในการอบรมภายในชุมชน เริ่มมีสมาชิก หรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการอบรมเห็น และสนใจ เริ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตรงนี้ 

ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี ทำงานร่วมกันกับหลายๆ ภาคส่วนในการพัฒนาชุมชน เพราะคงจะใช้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ก็จะมีทั้ง กศน. พัฒนาอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ บางครั้งก็จะมีทำโครงการร่วมกันในการถ่ายทอดอาชีพสู่ชุมชน

ปตท. เป็นหน่วยงานหลักที่มาสนับสนุนการทำงานของทางศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีอยู่แล้ว เป็นผู้ส่งเสริมในเรื่องขององค์ความรู้ อุปกรณ์วิจัยเริ่มต้นที่เราใช้ในการสกัดสารต่างๆ เป็นต้นแบบอาชีพให้กับชุมชน การทำงานของศูนย์จะบริหารจัดการโดย ปตท. และมีส่วนร่วมกันกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงผู้นำชุมชน

ปตท. สนับสนุนองค์ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ อาทิ ที่มาที่ไปเรื่องของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางครั้งทางชุมชนและชาวบ้าน ไม่สามารถเข้าถึงได้ เราก็เลยพยายามที่จะเอาวิชาการมาย่อยให้มันง่าย เพื่อที่ชุมชนจะได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการทำส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จะมาเป็นต้นแบบ เป็นการดำเนินงานของทาง ปตท. ก่อน แล้วค่อยส่งต่อการอบรมมาที่ชุมชน” 

ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาหลักๆ มี สบู่สมุนไพร 3 ตัว คือ สบู่สมุนไพรสำมะง่า ที่เป็นพันธุ์ไม้ชายเลน สบู่สมุนไพรเบญจมาศน้ำเค็ม สบู่สมุนไพรใบขลู่ น้ำมันนวดที่มาจากสมุนไพรสารภีทะเล ซึ่งรายได้ทั้งหมดทำเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ปากน้ำปราณ เพื่อเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

สบู่สมุนไพร จากชุมชนปากน้ำปราณ จะไม่ใช้สารเคมีมาเป็นส่วนผสมเลย โดยใส่ใจในการเลือกวัตถุดิบ อาทิ กลีเซอรีน ลาโนลิน ที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองกับผู้ใช้ ซึ่งโดยส่วนใหย่แล้วตัวสารออกฤทธิ์ที่อยูในใบไม้ต่างๆ ของป่าชายเลน มีฤทธ์ในการช่วยเรื่องของอาการโรคผิวหนัง แก้คันได้ 

- สบู่สมุนไพรสำมะง่า สรรพคุณ ต้านการอักเสบ ช่วยแก้อาการคัน จากโรคผิวน้ำเหลืองเสีย และกากเกลื้อน

- สบู่สมุนไพรเบญจมาศน้ำเค็ม สรรพคุณ ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยแก้อาการคันจากโรคผิวน้ำเหลืองเสีย

- สบู่สมุนไพรใบขลู่ สรรพคุณ ต้านการอักเสบ ลดอาการคันผิวหนัง ทำให้ผิวชุ่มชื้น

- น้ำมันนวดจากสารภีทะเล เนื่องจากในเมล็ดของสารภีทะเลจะมีน้ำมัน น้ำมันตัวนี้จะช่วยในเรื่องของการคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ เหล่านี้มาจากงานวิจัยเราก็เอามาสกัด โดยทำให้มันง่ายขึ้น ชุมชนสามารถทำเองได้ จึงออกมาเป็นน้ำมันขี้ผึ้งนวดสมุนไพร โดยสรรพคุณ คือ ลดการอักเสบ ระคายเคือง ช่วยระบบการหมุนเวียนเลือด ลดอาการเมื่อยล้า บวม อักเสบของกล้ามเนื้อ ถอนพิษที่เกิดจากแมลง และสัตว์มีพิษกัดต่อย ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

ผู้จัดการศูนย์ฯ สิรินาถราชินี กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ชุมชนเริ่มตระหนักแล้ว เมื่อก่อนต้นไม้ถ้าอยู่ที่บ้านก็จะฟันทิ้ง ปัจจุบันกลายเป็นมาช่วยกันปลูก ดูแล อนุรักษ์ ซึ่งเราใช้ตัวผลิตภัณฑ์มาเป็นเครื่องมือในการทำให้คนรู้คุณค่าในการอยู่ร่วมกันกับป่า พอเขามีรายได้ เขาก็หวงแหนทรัพยากรป่า การอนุรักษ์จะแยกไม่ได้ ถ้าหากปากท้องยังไม่พอ แต่ว่าหากเราทำให้การอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของปากท้องเขาได้ ก็จะทำให้การทำงานหรือการอนุรักษ์นั้นยั่งยืน 

ดั่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง กล่าวไว้ ต้องปลูกป่าในใจคนก่อน ฉะนั้น การที่จะส่งเสริมหรือการพัฒนาอะไรก็ตามต้องทำตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าใจก่อนว่าชุมชนตรงนั้นเป็นอย่างไร ทำให้เขาเกิดความพร้อมในการเข้าถึง แล้วจึงทำการพัฒนา หากยังไม่เข้าใจชุมชน จะทำให้เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน มาแบบชั่ววูบแล้วหายไป แต่ถ้าเราเข้าใจบริบทของชุมชนมาคิดร่วมด้วยว่าเขาเหมาะกับอะไร สิ่งนี้เหมาะสมกับเขาหรือไม่ นำมารวมกันก็จะทำให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืน” 

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน

ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภูมิปัญญาแห่งชุมชน สิ่งเชื่อมของ ปากท้องชุมชน และการอนุรักษ์ป่าชายเลน