หญิงตั้งครรภ์ อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด
ยิ่ง กทม.เป็นพื้นที่เสี่ยง นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 อย่างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อยากบอกว่า หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ก็เผชิญกับความเสี่ยงเช่นกัน!
เป็นอีกกลุ่มที่ต้องห่วงเลยทีเดียวสำหรับ หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับเข้ารักษาโรคโควิด 19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บ่งบอกได้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
หญิงตั้งครรภ์ อีกกลุ่มที่ต้องได้วัคซีน
ยิ่งเชื้อแพร่กระจายไปยังทุกหนทุกแห่ง กลุ่มที่ต้องใส่ใจและรับวัคซีนก่อนใครจึงไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังมี หญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงของ 2 ชีวิต หรือมากกว่า ดังนั้น ครอบครัวไหนที่มีคนท้อง คนในครอบครัวที่ออกไปนอกบ้าน เมื่อเข้าบ้านแล้วก็ยังควรเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และเคร่งครัดเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยเป็นพิเศษ
เนื่องจากจำนวนเตียงไม่พอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อทั้งหมด บุคลากรทางการแพทย์อีกไม่น้อยที่ติดเชื้อโควิดหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว ทำให้บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญเกิดการขาดแคลน รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เครื่องมือแพทย์ และวัคซีนที่ต้องการอย่างมากในวิกฤตนี้ แม้ว่าทั้งแม่และลูกในครรภ์จะอยู่เฉยๆ ก็จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงไปโดนปริยาย
- หากเจอเคสหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดและเริ่มมีอาการ สถานพยาบาลอาจต้องระดมแพทย์จากหลากหลายสาขามาร่วมวินิจฉัยและให้การรักษา ในขณะที่ บุคลากรทางการแพทย์ก็กำลังทำงานอย่างหนัก อาจไม่สามารถติดตามอาการหรือให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง
- กรณีฉุกเฉินที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยทั้งแม่และเด็ก อาจต้องใช้สองเครื่องพร้อมกัน
- หากติดเชื้อแล้วเกิดอาการหนัก บางบ้านอาจตกอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกว่า จะรักษาชีวิตของแม่หรือเด็กเอาไว้ หรืออาจเสี่ยงทั้งสองชีวิต ฯลฯ
เพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดสถานการณ์ที่ว่ามานี้ กรมอนามัยและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับวัคซีนโควิด โดยเร็ว เพื่อเป็นเกราะป้องกันการป่วยหนักในขั้นแรก
อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขที่ไม่ควรจะเกิด แต่เกิดขึ้นแล้ว
หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด บางรายเข้ารับการรักษาไม่ทันจึงเสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก ในประเด็นนี้ กรมอนามัยเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 63 - 25 มิ.ย. 64 พบอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์ - หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด รวม 502 ราย แบ่งได้เป็น
- คนไทย 326 ราย
- คนต่างด้าว 176 ราย
ความรุนแรงของอาการในหญิงตั้งครรภ์
- ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ 1.80% (เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 1.4%)
- ปอดอักเสบ 26.75%
- อาการเล็กน้อย 29.14%
- ไม่มีอาการ 42.32%
สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในทารกแรกเกิด
- ไม่ติดเชื้อ 205 ราย
- ติดเชื้อ 35 ราย
- ไม่ได้ตรวจ 4 ราย (เสียชีวิตในครรภ์ 2 ราย, หลังคลอด 2 ราย)
- ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ราย
- ปอดอักเสบ 1 ราย
- อาการเล็กน้อย 6 ราย
- ไม่มีอาการ 22 ราย
แม่และเด็กที่จากครอบครัวไปแล้ว
- แม่ 7 ราย
- ทารก 4 ราย
ต้องแยกแม่ - แยกลูก ในกรณีที่เป็นทารกแรกเกิด
- ได้อยู่ห้องเดียวกัน 14 ราย คิดเป็น 5.86%
- อยู่ห้องเดียวกันแต่เว้นระยะห่าง 12 ราย คิดเป็น 5.02%
- แยกกันอยู่ 213 ราย คิดเป็น 89.12%
ที่มา : กรมอนามัย
คำแนะนำและสิ่งที่ต้องใส่ใจในวิกฤตโควิดสำหรับ หญิงตั้งครรภ์
- หากมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด แต่หากอายุครรภ์น้อยกว่า ยังไม่แนะนำให้เข้ารับวัคซีนโควิด
- หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสป่วยหนักกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงควรอยู่แต่ในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะในช่วงกรกฎาคม - สิงหาคมนี้
- หากต้องออกนอกบ้านก็ต้องป้องกันตัวขั้นสูงสุด และวางแผนก่อนเสมอว่า จะออกไปทำธุระอะไร เช่น
- ออกไปประชุม ให้เตรียมพร้อมสำหรับการประชุมแล้วใช้เวลาให้น้อยที่สุด โดยมีผู้ร่วมประชุมน้อยที่สุด
- ออกไปซื้อของกินของใช้ ให้เซฟในสมาร์ทโฟนหรือจดใส่กระดาษว่า ต้องการซื้ออะไร แล้วหาซื้อของตามลิสต์นั้น จะช่วยให้การใช้เวลานอกบ้านสั้นลง
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในหลากหลายด้าน และใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับสังคมสารพัดแง่มุม SPRiNG จึงนำข้อความที่สะท้อนชีวิตคนท้องในสถานการณ์โควิดมาให้รับรู้และร่วมดูแลหรือใส่ใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น พร้อมข้อมูลอัปเดตในสถานการณ์โควิด
..........
คนท้องที่ติดมา ส่วนใหญ่เค้าอยู่กันแออัดมากค่ะพี่
โทรหาคุณน้องที่ต้องดูแลคนท้อง
ห้องคลอด 11 เตียง ติดโควิด 11 เตียง
มีคลอดทุกเวร
คลอดก่อนกำหนดก็มี
เด็กที่ออกมาก็ไม่ค่อยดี
- วัคซีนในคนท้อง - ต้องรอ
- ยกการ์ดในคนท้อง - ทำยาก (เพราะครอบครัวไม่เอื้อ)
- ทำงานแบบ WFH - บางที่ยังไม่อนุญาต
คนท้องไม่มีเกราะ ต้องยกการ์ด ขนาดไหน
น่าเป็นห่วงจริงๆ
..........
ที่มา : รวบรวมจากคำแนะนำของ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ นพ.กรัณย์ พงศ์พิพัฒน์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะและมีบุตรยาก