The Guilty สายด่วนช่วยชีวิต เป็นหนังใหม่ของ Netflix ที่เปิดเผยการทำงานของสายด่วนฉุกเฉิน 911ในอเมริกา กำกับโดย อองตวน ฟูกัว นำแสดงโดย เจค จิลเลินฮาล นักแสดงมากฝีมือ ซึ่งผลงานล่าสุด รับบทเป็นตัวร้าย Mysterio ในเรื่อง Spiderman Far from Home
The Guilty ได้จำลองกระบวนการ Emergency Call หรือสายด่วนฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่รับสายเหตุด่วนเหตุร้ายจากประชาชน เป็นหนังแนวอาชญากรรมระทึกขวัญ ของสายที่โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือจาก 911 ที่ในเรื่องเรียกหน่วยงานนี้ว่า ศูนย์สื่อสารแอลเอพีดี (LAPD) เป็นผู้รับเรื่องและประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตัวเองของเรื่องคือ โจ เป็นตัวหลักที่ต้องเค้นอารมณ์ลุ้นระทึกผ่านการแสดง เพราะรูปแบบหนังและเทคนิคการถ่ายทำนั้นเป็นการถ่ายทำซีน (Scene)ที่จำลองอยู่แค่เพียงสถานที่เดียว มีแค่ฉากห้องสื่อสารและห้องน้ำเพียงแค่นั้น และใช้เทคนิคเสียงและการแสดงที่สื่ออารมณ์เร่งเร้า ลุ้นระทึก ตื่นเต้นและความฉงนของเหตุกาณ์ให้คนดูได้ลุ้นไปกับตัวละคร
กระบวนการ 911 ของสหรัฐฯ
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การบวนการตอบรับของหมายเลขฉุกเฉินดูรวดเร็วมากๆในการให้ความช่วยเหลือ โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่จะมีหน้าจอหลายหน้าจอ เวลามีการโทรเข้าจะขึ้นไฟสีแดงว่ามีสายเข้าอยู่ และข้อมูลของบุคคลหรือเครื่องสื่อสารที่โทรเข้ามาจะขึ้นข้อมูลที่อยู่ของเบอร์โทรนั้นอัตโนมัติ อยากรู้ไหมว่าทำไมการทำงานของ 911 ถึงดูรวดเร็วและในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการแบบนี้มีหรือไม่ เป็นยังไงบ้าง Spring News จะเล่าให้ฟัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Raincoat Killer ซีรีส์สารคดีเน็ตฟลิก ย้อนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเกาหลีใต้
สุดยอด 10 หนังและซีรีส์สุดฮิต Netflix วัดจากชั่วโมงที่ดู และ บัญชีผู้ใช้
The Silent Sea ซีรีส์ไซไฟแฟนตาซีเรื่องใหม่ ในรอบ 5 ปีของ กงยู
squid game หนัง Netflix ซีรีส์แนวเกมเอาชีวิตรอด มาแรงจนต้องดู
James Bond No Time to Die เจมส์ บอนด์ 007 ภาคใหม่ ฉายพร้อมกัน 7 ตุลาคม 2564
ต้องเกริ่นไปที่จุดกำเนิดของสายด่วน 911 ก่อนเลย ในปีค.ศ.1957 สำนักงานสถานีดับเพลิงนานาชาติ (IAFC) ได้เสนอตัวเลขของเบอร์ฉุกเฉินให้จำง่ายขึ้น 10 ปีต่อมา ปีค.ศ.1967 ประธานาธิบดีลินดอนบี จอห์นสัน ได้รายงานต่อคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายให้รับเรื่องไปพิจารณาถึงการกำหนดตัวเลขง่ายๆสำหรับประชาชน จนทำให้ในปีค.ศ.1968 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการการสื่อสารของสหรัฐฯ(Federal Communications Commission หรือ FCC)ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการการสื่อสารคมนาคมของสหรัฐ อเมริกันโทรศัพท์และเทเลกราฟหรือ AT&T ได้ออกแบบตัวเลข 911 ออกมาเป็นครั้งแรกให้เป็นหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน และเริ่มใช้ครั้งแรกในปีนั้น ที่ฮาร์เลย์วิล รัฐอะลาบามา (Haleyville, Alabama) และหมายเลขนี้สามารถเชื่อมไปได้ทั้งศูนย์ดับเพลิง ศูนย์บริการฉุกเฉินทางการแพทย์และตำรวจ ด้วยระบบตอบรับที่รวดเร็ว ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลเพราะวิธีการนี้เริ่มขยายไปยังหลายๆรัฐ
จากระบบข้อมูลอาชญากรรมในปีนั้น เผยให้เห็นว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 กว่า 93% ของประชากรทั้งประเทศ และ 96% ของพื้นที่ ได้ครอบคลุมไปด้วยการใช้งานเลข 911 แล้วอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในขณะนั้นสภาคองเกรสยังไม่ได้รองรับเลขหมายนี้อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมีกฎหมายด้านความปลอดภัยของสาธารณออกมาในปี 1999 ซึ่งระบบนี้ก็ได้รับความสนใจจากนานาชาติและเริ่มเป็นต้นแบบของสายฉุกเฉินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของหลายๆประเทศ
กระบวนการทำงานของระบบ
ทุกวันนี้ระบบนี้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากขึ้นในสหรัฐฯ จากการตอบรับที่รวดเร็วจากเจ้าหน้าที่ ด้วยตัวระบบที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่ การดูแลพื้นที่และความรวดเร็วเกิดขึ้นจากการแยกระบบและเขตพื้นที่ของสัญญาณ เจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตพื้นที่จะได้รับสายร้องเรียนเฉพาะเขตพื้นที่ที่สำนักงานของตนตั้งอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้มีอยู่ทุกพื้นที่แล้ว โดยกระบวนการสร้างเส้นทางการสื่อสารนั้น จะเหมือนกับที่ในหนังได้แสดงให้เราเห็นเลย ซึ่งก็เป็นกระบวนการเดียวกันจากที่มีอยู่จริงตอนนี้
เบอร์โทรทุกเบอร์โทรจะถูกจำแนกออกเป็น 2 แบบ คือโทรศัพท์บ้านที่มีการลงทะเบียนที่อยู่และข้อมูลชื่อเจ้าของไว้ และโทรศัพท์ไร้สายที่จะมีข้อมูลของเจ้าของเบอร์ และโลเคชั่นที่อยู่ของเบอร์โทรนั้นแบบเรียลไทม์ ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อกับดาวเทียมในการระบุตำแหน่งและข้อมูลคมนาคม เจ้าหน้าที่จะสามารถเห็นสถานที่ปัจจุบันของสายที่โทรเข้ามาได้และข้อมูลของเจ้าของเครื่องจะโชว์ขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ โดยข้อมูลที่จะแสดงคือ ข้อมูลที่อยู่ ระบุตัวตนเจ้าของเบอร์และเครื่องจะบันทึกการสนทนาอัตโนมัติ ซึ่งในปีค.ศ.1960 จะมีการกระจายข้อมูลเหล่านี้ไปยังสายตรวจในท้องที่ได้ด้วย เพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุ
เจ้าหน้าที่จะมีการซักถามข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีการบาดเจ็บและต้องเร่งปฐมพยาบาล เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเบื้องต้นและต่อสายติดต่อและส่งข้อมูลไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียงรวมไปถึงสายตรวจในท้องที่ที่ใกล้ที่สุดให้ไปยังที่เกิดเหตุทันที เจ้าหน้าที่ทุกคนจะมีการฝึกการช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมไปถึงการเกลี้ยงกล่อมทางจิตวิทยาหากผู้โทรเข้าอยู่ในสถานการณ์ตื่นตระหนก เช่นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1976 เคยมีกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งที่โทรมาขอความช่วยเหลือเนื่องจากลูกของเธอไม่หายใจ ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ไปถึง เจ้าหน้าที่ที่รับสายก็ได้ให้คำแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเกลี้ยกล่อมผู้เป็นแม่ให้มีสติ จนท้ายที่สุดลูกของเธอก็ได้รับความช่วยเหลือได้ทันจากคำแนะนำเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่
ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ผู้รับสายจะมีกฎการขอข้อมูลจากผู้โทรเข้ามาอย่างละเอียดเพื่อง่ายต่อการประสานและเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดขึ้น โดยจะต้องถามข้อมูลอย่างละเอียดอยู่เสมอและประเมินสถานการณ์ออกมา หากทราบสถานการณ์ความต้องการชัดเจนแล้วจะประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆที่มีตั้งแต่ ตำรวจลาดตระเวนในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด หน่วยพยาบาล หรือพนักงานดับเพลิง ให้รุดหน้าไปช่วยเหลือทันที
สำหรับประเทศไทยเองก็มีเช่นกันนะ โดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (Thailand Emergency Command Center : TECC) ที่ใช้หมายเลข 191 เป็นศูนย์ระบบแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จากที่เมื่อก่อนรวมไปถึง ณ ตอนนี้ก็ตาม ยังมีหมายเลขหลายหมายเลขที่ทำให้ประชาชนสับสนการใช้งาน เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่มักจะทำให้ผู้ใช้บริการสับสน ในความเป็นจริงไทยเองก็มีระบบการรับสายฉุกเฉินแบบสหรัฐฯแต่ประชาชนหลายคนก็ยังคงพบกับสายที่ไม่ว่างอยู่เสมอหรือปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ไม่สามารถติดต่อหมายเลขนี้ได้ในบางกรณี ฉะนั้นบทความหน้าจะพาไปรู้จักกับการทำงานของระบบสายฉุกเฉินของประเทศไทยว่ามีการทำงานอย่างไร ระบบยุ่งยากหรือไม่ จะเหมือนกับระบบของสหรัฐฯหรือเปล่า โปรดติดตามต่อไป
ที่มาข้อมูล สำนักงาน กสทช. และ Vera Institute of Justice
เพิ่ม Spring News
ลงในหน้าจอหลักของคุณ