svasdssvasds

เปิดโลกกิจกรรม ปฐมนิเทศ กิจกรรมรับน้อง 5 ประเทศ รอบโลก ไม่ต้องโหดก็รักกันได้

เปิดโลกกิจกรรม ปฐมนิเทศ กิจกรรมรับน้อง 5 ประเทศ รอบโลก ไม่ต้องโหดก็รักกันได้

นักศึกษาปี 1 คือเด็กมัธยมที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเยาวชนสู่ชีวิตความเป็นผู้ใหญ่ การรับน้อง หรือ บางทีใช้คำว่ารับเพื่อนใหม่จึงเป็นเหมือนการอ้าแขนต้อนรับ พวกเขาเหล่านี้ให้เริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาลัย

หลายๆ คนคงจำได้ว่า ช่วงสัปดาห์แรกในรั้วมหาลัย ส่วนใหญ่มักเป็นการให้รุ่นพี่และคณะได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาใหม่ได้สร้างความคุ้นเคยบรรยากาศรอบๆ มหาวิทยาลัยโดยมีรุ่นพี่คอยประคองและแนะนำแนวทางในการเรียนเบื้องต้น โดยเปิดโอกาสให้น้องใหม่ที่มาจากต่างที่ต่างถิ่นได้ทำความรู้จัก ผูกมิตรกันและกัน ผ่านกิจกรรม สันทนาการต่างๆ หรือ แม้กระทั่งนัดรับประทานอาหาร กินดื่มสังสรรค์หลังเลิกเรียน เพื่อเริ่มต้นเข้าสังคมใหม่ กระชับความสัมพันธ์ ละลายตัวตน ระหว่างคนในรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่

ส่วนในไทยหลายๆ ปีที่ผ่านมา กิจกรรมรับน้อง แบบ Sotus หรือระบบอาวุโสอำนาจนิยมได้ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อสนทนาและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นคาดว่ามีการรับระบบโซตัสนี้มาจากอังกฤษเข้ามาใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ผสมกับการส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่ สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ในช่วงสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 2480 โดยรับแนวคิดผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง มาใช้ในรูปแบบการว้ากที่เป็นการกดดันทางจิตวิทยาและการลงโทษโดยทรมานร่างกายมาใช้ในมหาวิทยาลัยในไทยเรื่อยมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีข่าวการการน้องโหดจนถึงขั้นเสียชีวิตให้รับรู้ทุกปี และการตั้งคำถามถึงระบบห้องเชียร์ ที่แท้จริงแล้วมีขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่ จึงมีการรณรงค์ผ่านเพจ ANTI SOTUS ที่เป็นกระบอกเสียงและแจ้งข่าวการรับน้องที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละปีการศึกษา เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษา และร่วมหา กิจกรรมรับน้อง ที่สร้างสรรค์แทน 

รูปแบบกิจกรรมการปฐมนิเทศและรับน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 5 ประเทศนี้ มีรูปแบบยังไงบ้างแล้วมีที่ไหนบ้างมั้ยที่ยังมีปัญหาแบบเดียวกันกับประเทศไทย

ประเทศ 

  • ออสเตรเลีย

สัปดาห์ปฐมนิเทศ (Orientation week หรือ O-Week) มหาวิทยาลัยบางแห่งในออสเตรเลีย กำหนดให้นักศึกษาปี 1 ต้องมาเตรียมตัวในวิทยาเขตล่วงหน้าก่อน 1 สัปดาห์ เพื่อให้น้องใหม่ได้ปรับตัวเตรียมพร้อมกับชีวิตนักศึกษา รูปแบบการรับน้องของ University of Melbourne, University of New South Wales และ University of Sydney ในค่ำคืนก่อนจบรับน้องมักจะมี
งานดนตรีขนาดใหญ่ที่เชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงมาร้องเพลงให้ความบันเทิงในมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สนุกสนาน กินดื่มกันภายในปาร์ตี้

ส่วนใน The Adelaide University สัปดาห์ปฐมนิเทศจะเปิดให้สโมสรกีฬาและสมาคมต่างๆ มาออกบูธกางเต้นท์แสดงผลงานของตัวเองและเปิดให้มีการแสดงดนตรี กินดื่ม และบาร์บีคิวกันในสนามหญ้าของวิทยาเขต

  • ฟินแลนด์

การรับน้อง ที่รุ่นพี่จะใช้คำว่า piltti ('เด็ก'), fuksi ('น้องใหม่') กับนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้ามา องค์กรนักศึกษาของแต่ละคณะจะจัดกิจกรรมกันเอง โดยมักให้นักศึกษาใหม่จับกลุ่มรวมตัวกันทำกิจกรรมโดยมีรุ่นพี่คอยดูแลในกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกแบบชุดแฟนซีมาแต่งประชันกัน สร้างสีสันละลายพฤติกรรม และได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ นั่งซาวน่าให้ตัวอบอุ่นแบบชาวเมืองหนาว ส่วนกิจกรรมห่ามๆ หน่อยก็มีด้วย เช่น การแข่งขันกีฬา การว่ายน้ำในน้ำพุ การคลานในผับในคืนวันดื่มเลี้ยงฉลอง 

  • สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์

เปิดโอกาสให้นักศึกษาใหม่ทำความคุ้นเคยกับองค์กรนักศึกษาและทำความรู้จักกับเมืองที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้นๆ การแสดงดนตรีสดเพื่อให้เพื่อนใหม่ได้ผ่อนคลายและพบปะกัน โดยวางเป้าหมายให้นักศึกษาได้ผูกมิตรกับเพื่อนในหลักสูตรเดียวกัน และแนะนำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในมหาลัยให้กับน้องใหม่ เช่น การใช้ชีวิตในรั้วมหาลัย ชมรม สมาคมกีฬา คลับต่างๆ ที่เปิดภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อลดจำนวนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และรู้จักการป้องกันเมื่อต้องไปงานปาร์ตี้กันถี่ๆ ในช่วงแรกของการเป็นนักศึกษา

  • อินโนนีเชีย 

การปฐมนิเทศนักศึกษาเรียกว่า OSPEK (Orientasi Studi dan Pengenalan Kampus) ในอดีตมีรายงานการใช้ความรุนแรงทางวาจาและร่างกาย ร่วมถึงกิจกรรมที่ละเมิดมนุษยธรรมที่เป็นเหตุแก่ชีวิตด้วยเช่นเดียวกันกับไทย โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต รวมทั้งการกำหนดให้นักศึกษาใหม่ต้องแต่งตัวและทำทรงผมประหลาดๆ หิ้วกระสอบปุ๋ยแทนกระเป๋า ในช่วงแรกของการเปิดภาคเรียน 

ภาพบรรยากาศรับน้องในประเทศอินโดนีเซียน ภาพจาก https://medium.com/@bobyandika/indonesia-its-time-to-abandon-your-ospek-tradition-74f6a5091bdf

ในปัจจุบันแม้การใช้ความรุนแรงทางร่างกายจะถูกกำหนดเป็นข้อห้ามแล้วในกฎหมายและสถาบันการศึกษาหลักๆ ของประเทศก็ยกเลิกการรับน้องแบบนี้ไปแล้วก็ตามแต่นักจิตวิทยาก็ยังออกมาแสดงความเห็นว่ายังมีการใช้คำพูดที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอยู่ โดยรุ่นพี่มักใช้กิจกรรมความรุนแรงรูปแบบนี้ส่งต่อประเพณีที่ได้รับมาซึ่งถูกวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนักและควรเลิกจัดกิจกรรมแบบ OSPEK ลงเสียที

  • สหรัฐอเมริกา

นักศึกษาปี 1 (Freshmen) ช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเรียนจะเป็นการให้นักศึกษาทำความรู้จักกับสถาบัน โดยการทัวร์รอบรั้ววิทยาเขต ทัศนศึกษา เกมการแข่งขัน ต่างๆ โดยกิจกรรมที่เปิดให้เข้าร่วมก็จะมี เช่น การร้องเพลง กิจกรรมการออกกำลังกายแบบกลุ่ม และการเล่นเกม เพื่อให้น้องใหม่ที่มาจากต่างที่ได้รู้จักแนะนำตัวกัน และสร้างความผูกพันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ส่วนใหญ่แล้วช่วงสัปดาห์แรกนักศึกษามักจะจัดกลุ่มกันโดยมีรุ่นพี่คอยแนะนำพาทัวร์ และชี้แนะแนวทางในการลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆและมักจะจบด้วยการแสดงดนตรีในตอนท้าย เน้นการทำความรู้จัก ผูกมิตรกับเพื่อนๆ ในปีเดียวกัน 

แต่อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าในช่วงระหว่าง กิจกรรมรับน้อง อาจมีการนัดแนะนอกกันนอกรอบเพื่อ จัดปาร์ตี้ กินดื่มกันอย่างเต็มที่แม้อายุจะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดที่อายุ 21 ปีก็ตาม ซึ่งอาจนำพามาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การละเมิดทางเพศในหลายๆ กรณีที่เคยเป็นที่โด่งดังและถูกทำเป็นสารคดีใน Netfilx 

คลิป AUDRIE & DAISY Trailer (2016)

ทั้งนี้ยังมีการรับน้องที่รุ่นพี่มีการทดสอบความอดทนกับน้องปี 1 ด้วยเช่นกันถึงจะมีการห้ามปรามอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม รูปแบบกิจกรรมอาจขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน บางทีก็เชิญชวนให้ผู้ปกครองมาส่งนักศึกษาในวันแรกเพื่อช่วยเหลือด้านต่างๆ และสร้างขวัญกำลังใจ หรือบางสถาบันก็ถือโอกาสนี้ในการรวมใจน้องใหม่ให้ภาคภูมิใจในมหาลัยที่ตัวเองได้มีส่วนร่วม ส่วนในเมืองใหญ่ที่มีสถาบันมากกว่า 1 แห่งก็อาจจะมีการแข่งขันระหว่างสถาบัน 

นักศึกษาปีที่ 1 ก็คือเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ การมีรุ่นพี่ที่หวังดี คอยแนะนำและแนะแนวการเรียนหรือการใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยก็ช่วยให้ลดความเครียดลงได้ การเริ่มต้นโดยโดดเดี่ยว ก็อาจจะมีนอกลู่นอกทางแต่การได้รู้ว่ามีฝ่ายซับพอร์ตจากคนที่ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมาหรือจากความช่วยเหลือของแผนกดูแลนักศึกษาอย่างเข้าอกเข้าใจ เคารพสิทธิกันและกันมีพื้นที่ปลอดภัยได้ปลดปล่อยและทดลองใช้ชีวิต เรียนรู้ผิดถูกอยูในสายตาน่าจะมีประโยชน์กับตัวน้องใหม่หรือเพื่อนใหม่มากกว่า กิจกรรมรับน้อง ทดสอบจิตใจ กดดันทางวาจา หรือแม้กระทั่งความรุนแรงที่ปลูกฝังและส่งไม้ต่อกันเป็นประเพณี ซึ่งไม่ตอบจุดประสงค์ของการต้อนรับสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน 

ที่มา
1 2