svasdssvasds

จับผิด ตัวตนปลอมบนออนไลน์ ตั้งคำถามและกระตุ้นต่อมเอ๊ะ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

จับผิด ตัวตนปลอมบนออนไลน์ ตั้งคำถามและกระตุ้นต่อมเอ๊ะ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

ตัวตนปลอมบนออนไลน์ เป็นปัญหาและข้อถกเถียงกันในสังคมอีกครั้งหลังจากที่มีประเด็นขุดคุ้ย หมอปลอม ในบัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ที่ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ทั้งการเมือง สังคม มียอดผู้ติดตามหลายหมื่นคน เชื่อถือและนำไปอ้างถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สืบเนื่องจากกรณี หมอปลอม ประเด็นในโลก Twitter ที่นักสืบโซเชียลขุดคุ้ย บัญชีทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งที่มียอดผู้ติดตามหลายหมื่นคนใน Twitter  ที่กล่าวอ้างว่าเป็นหมอ โดยมีการนำข้อมูลมาเทียบเคียงและพิสูจน์ความน่าเชื่อถือหรือที่คนทั่วไปใช้กันว่า "แหก" จนบัญชีทวิตเตอร์เหล่านั้นได้ลบข้อมูลและปลิวหายไปแล้ว โดยทั้งนี้คุณหมอออนไลน์ดังกล่าว ได้ใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทั้งเรื่องโควิด การเมือง และรวมถึงประเด็นเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีการกล่าวอ้างว่าเสนอตัวไปช่วยเหลือในพื้นที่การสู้รบ  ทำให้รีทวิตกันเป็นจำนวนมากและมีหลายคนหลงเชื่อถือข้อมูลดังกล่าว จนนำไปอ้างถึงในช่องทางออนไลน์ต่างๆ 


ตรวจสอบรายชื่อหมอจริงได้เว็บไซต์ของแพทย์สภาได้ ที่นี่ 

จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า สรุปแล้วเราจะสามารถคัดกรองข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์นี้กันอย่างไรดี และตัวตนเสมือนที่ใครๆ ก็สามารถสร้างได้ ตัวตนปลอมบนโลกออนไลน์ นี้ กำลังบอกอะไรกับสังคม 

ทาง Spring News ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงกรณีดังกล่าวนี้ ทางอาจารย์ได้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้ 

การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นทำให้เราสามารถสร้างตัวตนและมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตัวเอง ผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์โดยทัศนะเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในมุมมองระหว่างสายเทคโนโลยีและสายนิเทศศาสตร์ มีความคิดเห็นที่ต่างกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในมุมของเทคโนโลยีถือได้ว่าเป็นการผลิตนวัตกรรมใหม่ที่เอื้อให้เกิดช่องทางสำหรับการสื่อสาร ส่วนนักนิเทศศาสตร์จึงนำช่องทางการสื่อสารใหม่นี้มาปรับตัวและพัฒนาในการส่งสารผ่านสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณี เฟคนิวส์ ที่ถูกปล่อยในโลกออนไลน์ ทำให้คนไม่สามารถจับได้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งสายนิเทศศาสตร์ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการที่มีสิ่งเสมือนจริงเกิดขึ้นจนไม่สามารถจับความผิดปกติได้ ถือเป็นหายนะและอันตรายที่ร้ายแรง 

การเป็นพลเมืองดิจิทัลในปัจจุบันยุคดิจิทัลนี้จึงขาดไม่ได้เลยที่จะต้องมี

  • ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ 
  • ต้องรู้จักเครื่องมือที่ใช้งาน เพื่อให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ 
  • รวมถึงการเรียนรู้ที่จะใช้ช่องทางสื่อสารของตัวเองอีกด้วย ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่พลเมืองดิจิทัลต้องฝึกฝนและเรียนรู้ 

การแอบอ้างตัวตน การปลอมแปลงเป็นคนอื่น ทางอาจารย์ให้ความเห็นว่า ในอนาคตไม่ใช่แค่อาชีพแพทย์อย่างเดียวที่จะถูกหยิบยกมาสร้าง ตัวตนปลอมบนโลกออนไลน์ แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้อาชีพแพทย์ได้รับการพูดถึงและเป็นที่จับตาของคนในสังคม จึงมีคนที่แอบอ้างสร้างบัญชีปลอมทางสื่ออนไลน์ขึ้นมา ซึ่งในอาชีพอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน สามารถมีการแอบอ้างและปลอมแปลงตัวตนได้เช่น ดารานักแสดงที่มักถูกนำชื่อไปอ้างในการขายสินค้าหรือหลอกลวงเงินทางออนไลน์ 

นอกจากสร้างความสับสนและเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์แล้ว ตัวตนปลอมบนโลกออนไลน์ ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายที่นำข้อมูลส่วนบุคคลอื่นมาใช้แอบอ้างโดยไม่รับการยินยอม นั่นเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปิดช่องให้เกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมา เป็นหน้าที่ของผู้ใช้สื่อทางออนไลน์ที่จะต้องรู้เท่าทันให้ได้ว่าอะไรจริงหรือปลอม ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่าจะไม่มีใครตรวจสอบได้ แต่เด็กในเจเนอเรชันนี้ที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัลมีทักษะและความสามารถที่จะสืบค้น จับผิดได้รวดเร็วกว่า

โดยสังเกตได้ว่า เด็กในเจเนอเรชันนี้สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ถึงตัวตนบนโลกออนไลน์ได้มากกว่าครึ่งของนักศึกษาทั้งหมดทั้งที่ยังไม่ได้มีการเรียนการสอนในห้องเรียน มีผลดีในการช่วยป้องกันไมให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีหาผประโยชน์ซ่อนเร้นจากตัวตนที่สร้างขึ้นมาโดยจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่สามารถปรับตัวและใช้สื่อได้อย่างเท่าทัน การใช้สื่อดิจิทัลจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับคนในเจเนอเรชันปัจจุบันที่เกิดมาพร้อมกับดิจิทัลและเทคโนโลยี 

แต่ที่สิ่งที่ต้องกังวลสำหรับคนในเจนนี้คือ ปัญหาการใช้อารมณ์ในการตอบโต้ผ่านสื่อออนไลน์ ที่มักแสดงความคิดเห็นส่วนตัวออกไปออกไปโดยทันที รวมถึงการพัฒนาทางด้านอารมณ์ ในการรับมือกับข้อความเชิงลบ เพื่อไม่ให้สูญเสียความมั่นใจหรือตัวตน จนเป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจต่อไป 

จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะทำการฝึกฝน เพื่อให้สามารถคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองมากขึ้นก่อนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์โดยทางสถาบันการศึกษาก็ได้มีการเปิดวิชาเรียนนี้โดยเฉพาะ ที่สามารถปรับใช้ได้กับทั้งสายนิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสายอาชญวิทยา ที่จะหาต้นตอของข้อมูลบนโลกออนไลน์ด้วยความว่องไวของข้อมูลทางออนไลน์ที่มีให้รับมากมายในระยะเวลาอันสั้น และการรับสารรูปแบบโดยย่อ สั้นๆ อาจจะขาดความถี่ถ้วนในการพิจารณาหรืออ่านข้อมูลได้ครบถ้วน ต้องจับผิด ด้วยต่อมเอ๊ะ และสืบค้นแหล่งต้นตอ อ้างอิง เพื่อพิสูจน์ข้อมูลดังกล่าว จนไปถึงแจ้งข้อมูลหรือบุคคลที่น่าสงสัยให้แก่ทางภาครัฐเพื่อตรวจสอบต่อไป

จึงทำให้มีผลกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ที่ต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษา ตัวตนปลอมบนโลกออนไลน์ ร่วมกันในห้องเรียนเพื่อเหลาทักษะให้แก่ผู้รับสารในการปกป้องตัวเองไม่ให้ถูกชี้นำหรือรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนโลกออนไลน์ ที่เป็นแพลตฟอร์มการรับสื่อที่คนรุ่นใหม่ใช้งานเป็นประจำ 

สรุปหลักการเท่าทันสื่อบนโลกออนไลน์เบื้องต้น มีดังนี้ 

  • ตั้งคำถามกับข้อมูลที่เห็นบนโลกออนไลน์ ก่อนที่จะปักใจเชื่อ 
  • จับความผิดปกติให้เร็ว ต่อมเอ๊ะ ทำงานเมื่อรับรู้ข้อมูลทางออนไลน์
  • ทักษะในการสืบค้น ตรวจสอบ ความจริง จากแหล่งอ้างอิงของข้อมูลต้นทาง เช่น ตัวอย่างของบัญชีปลอมของนักแสดงชื่อดัง ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่มีในออนไลน์จำนวนมาก สามารถใช้วิธีการตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการยืนยันตัวตนจริงกับปลอม
  • เลือกรับข้อมูลจากสถาบันหรือองค์กรสื่อที่น่าเชื่อถือที่มีกระบวนการกลั่นกรองผ่านทีมที่มีชื่อเสียง 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการใช้พื้นฐานหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานและข้อสงสัย เป็นจุดเด่นของคนในเจนนี้ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องด้วยบุคคลิกลักษณะนิสัยที่มีเฉพาะที่ต่างกัน เช่น 

  • ความเชื่อมั่นในตัวเอง
  • การตั้งคำถาม
  • การพิสูจน์ด้วยเหตุและผล 

ทำให้สามารถรับมือกับข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ดีกว่าคนในเจเนอเรชันก่อนที่โตมากับสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ที่มีให้เลือกรับข่าวสารไม่กี่ช่องทาง แต่อาจจะมีความรอบคอบมากกว่าในการแสดงความคิดเห็น
โทรศัพท์มือถือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วิถีชีวิตคนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป ภาพจาก freepik

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นคนในเจเนอเรชันใด ก็หนีไม่พ้นการรับข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายในปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมด้วยเครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้นจาก อาจารย์ บุปผา จึงสามารถช่วยให้เราเท่าทันความรวดเร็วของโลกดิจิทัลนี้ ก่อนเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จนสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนในสังคมวงกว้างต่อไป 

related