svasdssvasds

เดินหน้าพัฒนาผู้มีรายได้น้อย “เมืองย่าโม” ฝึกอาชีพกว่า 18,000 คน

เดินหน้าพัฒนาผู้มีรายได้น้อย “เมืองย่าโม” ฝึกอาชีพกว่า 18,000 คน

ก.แรงงาน ฝึกผู้มีรายได้ทั่วประเทศ หวังสร้างงาน สร้างรายได้ ยกคุณภาพชีวิต เมืองย่าโม จัดเต็มกว่า 18,000 คน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต 625,120 คน นั้น พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.)ใช้แนวทางประชารัฐประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมอย่างเร่งด่วน โดยต้องยึดหลัก 3 ประการ คือ ต้องไม่มีการทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้กลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมได้ต่อยอดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือมีงานทำอย่างน้อย 65 เปอร์เซ็นต์

เดินหน้าพัฒนาผู้มีรายได้น้อย “เมืองย่าโม” ฝึกอาชีพกว่า 18,000 คน

เบื้องต้นมีผู้รายงานตัวฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) เช่น ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างปูผนังและกระเบื้อง 22,004 คน ฝึกอาชีพเสริมเพื่อการมีงานทำหรือประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 58 หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชม. 30 ชม. และ 60 ชม. จำนวน 365,306 คน รวม 387,310 คน กลุ่มอายุที่สนใจจะอยู่ระหว่าง 35-50 ปี และ 51-60 ปี ซึ่ง 5 จังหวัดแรกที่มีผู้สนใจฝึกอาชีพ ได้แก่ นครราชสีมา 18,774 คน สุรินทร์ 13,827 คน เชียงราย 12,852 คน อุบลราชธานี 12,510 คน และกรุงเทพมหานคร 11,562 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้แจ้งความจำนงน้อยที่สุด คือ ระนอง 568 คน ได้เริ่มดำเนินตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกันยายนนี้ ตั้งเป้าในแต่ละเดือนจะฝึกอบรมให้ได้อย่างน้อย 100,000 คน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายนจะฝึกได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยสาขาที่ได้รับความนิยม  ได้แก่ สาขาการประกอบอาหารไทย การทำขนมเบเกอร์รี่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การตัดเย็บเสื้อผ้า และการจักสาน เป็นต้น

นายสุเมธ โศจิพลกุล ผุ้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา กล่าวว่าจากการที่จังหวัดนครราสีมามียอดผู้มีรายได้ลงชื่อฝึกอาชีพมากที่สุด จึงได้เร่งดำเนินการประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์และอาชีพเสริมอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดฝึกอบรมอาชีพเสริม 4 สาขา ได้แก่ การทำศิลปะประดิษฐ์(การทำของที่ระลึก) การทำขนมไทย การประกอบอาหารไทย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา (สพร. 5 นครราสีมา) เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ วิทยากร ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฝึกจำนวน 88 คน โดยย้ำว่าตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง ทุกคนจะต้องได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ต่อยอดทักษะการทำงาน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและสิ่งของ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว มีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเสริม จำนวน 17,206 คน และฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ 5 รุ่น จำนวน 1,538 คน รวมทั้งสิ้น 18,774 คน

related