svasdssvasds

เร่ง! ประชุมนัดแรก ผลิตภาพยนตร์เหตุการณ์ถ้ำหลวงฯ

เร่ง! ประชุมนัดแรก ผลิตภาพยนตร์เหตุการณ์ถ้ำหลวงฯ

วธ.ชงรายชื่อผู้ทรงวุฒิ-ผู้เชี่ยวชาญ-หน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอนายกฯ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ล่าสุดมีผู้ประกอบการชาวไทย-ต่างประเทศ แสดงความจำนงผลิตภาพยนตร์เหตุการณ์ถ้ำหลวง 12 โครงการ

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 5/2561 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง และปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง ส่วนคณะกรรมการประกอบหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นต้น รวมถึงการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย ศิลปวัฒนธรรม ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ทรัพย์สินทางปัญญา เด็กและเยาวชนหรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย โดยขั้นตอนหลังจากนี้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม เร่งจัดทำคำสั่งคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อเสนอให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งในคำสั่งต่อไป

​ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายดังกล่าว ก็จะเร่งดำเนินการเชิญคณะกรรมการประชุมนัดแรกทันที ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้

1.เป็นศูนย์ประสานและอำนวยความสะดวกแก่การผลิตสื่อไทยและต่างประเทศทุกรูปแบบที่ตรงตามความเป็นจริง ไม่กระทบจิตใจและสิทธิผู้ประสบภัยและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบริหารจัดการของผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤต การรวมพลังสามัคคี มีน้ำใจ จิตอาสาและมิตรไมตรีจากต่างประเทศ

2.ในกรณีเห็นว่าเหมาะสมและมีความพร้อม อาจผลิตหรือร่วมผลิตสื่อบางประเภทกับผู้อื่น 3.จัดทำจดหมายเหตุและการจัดนิทรรศการไปยังที่ต่างๆ

4.ให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยและบุคลากรอื่นๆ

5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานตามความเหมาะสม

6.รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ

7.ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ต้องการเข้ามาควบคุมหรือกำหนดข้อห้ามต่างๆ แต่จะทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน เสริมสร้างภาพลักษณ์และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ทีมหมูป่าและครอบครัวในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ

คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีความเห็นว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วยเหลือ 13 หมูป่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศและเป็นการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ทั้งของต่างประเทศและภาพยนตร์ไทย รวมถึงการผลิตภาพยนตร์ร่วมระหว่างไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ที่ครอบคลุม ภาพยนตร์เรื่องยาว สารคดี หนังสั้น ซึ่งโดยข้อกำหนดของกฎหมายเนื้อหาหรือเรื่องราวของข่าวและเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปไม่มีลิขสิทธิ์ไม่มีเจ้าของและไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังนั้นผู้ใดก็สามารถสร้างภาพยนตร์ วีดิทัศน์และแอนิเมชั่น เผยแพร่ได้ ​สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติกรณีการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยต้องขออนุญาต โดยส่งบทภาพยนตร์ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาตามกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 20 และการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยและต่างประเทศ โดยใช้สถานที่จริงต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ การโฆษณาเผยแพร่สื่อใดๆ เกี่ยวกับเด็กและผู้ปกครอง ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ เพราะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 คุ้มครองอยู่

​ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่บุคคลสำคัญ สำนักข่าวต่างประเทศ สื่อมวลชนไทยทุกแขนงให้ความสำคัญนำเสนอข่าว สารคดีอย่างต่อเนื่องทำให้นานาประเทศได้เข้าใจและรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ได้รับรายงานล่าสุดว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศ สนใจที่จะผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยถ้ำหลวงมาแล้ว 12 โครงการ แบ่งเป็น

-โครงการของผู้ประกอบการไทย 4 โครงการ

-โครงการร่วมทุนของผู้ประกอบการต่างประเทศและไทย 6 โครงการ

-โครงการของผู้ประกอบการต่างประเทศ 2 โครงการ

แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญของโลก เนื่องจากมีเอกชน ผู้ประกอบภาพยนตร์ แสดงความจำนงต้องการผลิตภาพยนตร์พร้อมๆ กันจำนวนมากเช่นนี้

related