svasdssvasds

เห็นชอบ! 18 มาตรา "ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่" คาดเข้าครม. 3 พ.ย. นี้

เห็นชอบ! 18 มาตรา "ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่" คาดเข้าครม. 3 พ.ย. นี้

อย. เผย ผลการประชุมทุกภาคส่วนที่พิจารณา 18 มาตราในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ โดยที่ประชุมเห็นชอบได้ข้อสรุปตรงกัน พร้อมที่จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมพิจารณา 18 มาตรา ในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ว่า ทาง อย. ได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคเอกชน เภสัชกร อาจารย์มหาวิทยาลัย มาหารือเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับแก้ไข 18 มาตรา ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีปัญหามาพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วในระยะแรก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน เกิดประโยชน์ในระบบยา และประเทศชาติ หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาช่วยพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยา ทั้งฉบับ ซึ่งจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี ทุกภาคส่วนรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน แม้มีความเห็นต่างกันในบางประเด็น แต่ก็ได้ทำความเข้าใจตรงกัน และบันทึกความคิดเห็นไว้ โดยได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายเห็นชอบในฉบับแก้ไข 18 มาตราของร่าง พ.ร.บ. ยา นี้ เป็นการแก้ไขในฉบับที่ 6 ซึ่งยังคงเนื้อหาสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามประกาศฯ คสช. ฉบับที่ 77/2559 , หลักเกณฑ์การอนุญาตยาที่จะวิจัยในต่างประเทศ อายุการขึ้นทะเบียนยา รวมถึงการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นอกเหนือจากหลักการในการแก้ไขครั้งนี้ จะนำไปเข้าในชุดคณะกรรมการที่จะมีการแก้ไขในฉบับเต็มต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ไม่ได้แตะประเด็นที่ขัดแย้งหรือไม่มีความเข้าใจเพียงพอ และจะมีการนำร่างฉบับเต็มส่วนที่เหลือไปเข้าในคณะกรรมการชุดใหญ่ ให้เกิดการมีส่วนร่วม อาจหาคนกลางมาให้พิจารณาประเด็นที่เห็นต่าง ซึ่งจะไม่กำหนดกรอบเวลาและให้มีเวลาในการพิจารณาอย่างเต็มที่

เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับแก้ไข 18 มาตรานี้ อย. จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคาดว่าหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ อย. ยังยึดมั่นในการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ให้เกิดการมีส่วนร่วม ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เป็นร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย ได้รับประโยชน์ และสามารถสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

related