svasdssvasds

กรมเด็กฯ จ่อเอาผิด กรณีนักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิต คาดรู้ผล 23 พ.ย.

กรมเด็กฯ จ่อเอาผิด กรณีนักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิต คาดรู้ผล 23 พ.ย.

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีการนำเด็กมากระทำการที่ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน แถลงความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เร่งรัดดำเนินการ 2 เรื่อง คือ

1) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. .... ร่วมกับหน่วยงานที่มีข้อสังเกตและความเห็น

2) รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเฝ้าระวังและการป้องกันการตายจากเหตุผิดธรรมชาติของเด็ก “กรณีมวยเด็ก”

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เสนอประเด็นดังกล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีความเห็นและข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. .... ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร อนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็ก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ณ หอประชุมกรมกิจการเด็กและเยาวชน

1) ผู้แทนหน่วยงานยืนยันเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. .... และเร่งรัดให้เสนอ ร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อให้ทันต่อกำหนดการเสนอร่างกฎหมายต่อ สนช.

2) ประเด็นเรื่องการชกมวยเด็ก ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กชกมวย การให้เด็กชกมวย ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปี พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

- มาตรา 22 กำหนดให้การปฏิบัติต่อเด็ก ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก

- มาตรา 23 กำหนดให้ผู้ปกครองต้องอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

- มาตรา 25 (4) ผู้ปกครองต้องไม่ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก

- มาตรา 26 (1) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก (6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก (7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

ตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มาตรา 28 กรณีผู้ปกครองตกอยู่ในสภาพไม่อาจให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือผู้ปกครองกระทำการใดอันน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพหรือขัดขวางต่อความเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก หรือป้องกันมิให้เด็กได้รับอันตรายหรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้การสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งดำเนินการโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในมาตรา 30

นอกจากนี้ การให้เด็กชกมวย ยังขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 2 ฉบับ ที่ไทยเป็นรัฐภาคี คือ ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ พ.ศ. 2516 ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 15 ปี และฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก พ.ศ. 2542

2.2) ผลกระทบด้านสุขภาพ การชกมวยส่งผลให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน รวมทั้งการอดอาหารเพื่อ ทำน้ำหนักซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางกายไม่สมบูรณ์ ร่างกายแคระแกร็น ซึ่งถือเป็นความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบหนึ่ง และนอกจากนี้ การชกมวยของเด็กจะมีความรุนแรงและแตกต่างจากมวยผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กต้องการมุ่งเอาชนะคู่ต่อสู้โดยไม่มีการระมัดระวังหรือออมมือ

2.3) ควรมีการวิเคราะห์ว่ามวยเด็กเป็นกีฬา กิจกรรมบันเทิงที่มุ่งผลแพ้ชนะ หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักพนัน

2.4) ปัจจัยความปลอดภัยของการชกมวยเด็ก พบว่า นอกจากเครื่องป้องกัน (Head guard) ต้องมีปัจจัยอื่น ที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ กรรมการ แพทย์สนาม และแม้ว่ากฎหมายกำหนดให้ใส่เครื่องป้องกัน แต่ผู้จัด (Promoter) และหัวหน้าค่ายมวยส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตาม

2.5) แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องมวยเด็ก ต้องวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กต้องชกมวย หากเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานภาครัฐต้องทำหน้าที่สนับสนุนให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูและทำให้เด็กทำหน้าที่ของตนเองเองได้

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม กรณีมวยเด็ก เพื่อให้มีความเห็นครบถ้วนและครอบคลุมเพิ่มขึ้น และจะเสนอความเห็นในประเด็นมวยเด็กต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรมเด็กฯ จ่อเอาผิด กรณีนักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิต คาดรู้ผล 23 พ.ย.

ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีการนำเด็กมากระทำการที่ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

ส่วนกรณี นักมวยเด็กวัย 13 ปี ที่เสียชีวิตจากการชกมวยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างไร คาดว่าภายในวันที่ 23 พ.ย.นี้ จะทราบผล

related