svasdssvasds

ร้อง ปปช. เหตุภาพเขียนสีเขายะลา

ร้อง ปปช. เหตุภาพเขียนสีเขายะลา

ศรีสุวรรณ บุก ป.ป.ช. ร้องเอาผิดอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เหตุหั่นพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาเอื้อเหมืองหิน

วันนี้ (6 มี.ค. 63) - ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัยกรณีที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามออกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ในวันสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ คือวันที่ 30 ก.ย. 62 โดยลดพื้นที่จากกว่า 887 ไร่ ให้คงเหลือประมาณ 697 ไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มโรงโม่หินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยอ้างปัญหาความมั่นคง-ลดความไม่สงบในพื้นที่จึงจำเป็นต้องมาอาศัยแห่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลา

ร้อง ปปช. เหตุภาพเขียนสีเขายะลา

 

การใช้อำนาจดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจับเป็นข้อพิรุธได้ 5 ประการดังนี้

1)พื้นที่ภูเขายะลาเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สวยงาม และบ่งบอกถึงอารยะธรรมโบราณ ซึ่งมีอายุราว 3,000 ปีมาแล้วในสมัยศรีวิชัยซึ่งก่อนหน้านี้มีปรากฎอยู่ถึง 4 แหล่งรอบพื้นที่เขายะลา ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญของคาบสมุทรภาคใต้และคาบสมุทรสยาม-มาเลย์อย่างยิ่ง และสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของเมืองยะลาหรือเมืองยาลอมาแต่โบราณ แต่บางภาพได้พังทลาย และเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหินไปบ้างแล้ว

2)การแก้ไขหรือหั่นเขตที่ดินโบราณสถานโดยเปิดโอกาสให้กับโรงโม่หินในการขอประทานบัตรระเบิดหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนกว่า 190 ไร่ มีปริมาณหินสำรองกว่า 33.54 ล้านเมตริกตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าพื้นที่จังหวัดยะลาและใกล้เคียงประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม เพราะแหล่งหินหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องมาใช้แหล่งหินจากภูเขายะลาแทนนั้น เป็นเหตุผลที่ไร้น้ำหนักเนื่องจากปัจจุบันในจังหวัดยะลามีการขอประทานบัตรทำโรงโม่หินอยู่ถึง 9 โรงใน ต.ลิดล อ.เมืองยะลา และต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ต.บันนังสตา มีปริมาณหินสำรองมากถึง 634.45 ล้านเมตริกตัน มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท มิได้ขาดแคลนตามอ้างแต่อย่างใด

ร้อง ปปช. เหตุภาพเขียนสีเขายะลา

 

3)การลงนามแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน กระทำในวันสุดท้ายที่อธิบดีเกษียณอายุราชการ และนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 ก.พ.63 ซึ่งมีระยะเวลานานถึง 5 เดือน ชี้ให้เห็นว่าจงใจที่จะปิดหูปิดตาประชาชนโดยไม่มีธรรมาภิบาลแต่อย่างใด

4)การออกประกาศดังกล่าว ไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำเสนอแนะหรือท้วงติง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.25 ม.26.ม.41 และม.43 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ อีกทั้งเป็นการฝ่าฝืนในหมวดหน้าที่ของรัฐในม.51 ม.53 ม.57 ม.58 ม.59 และม.61 อีกด้วย และเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐใน ม.72 ม.76 และม.77 โดยเฉพาะใน ม.77 วรรคสอง ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน...”

ร้อง ปปช. เหตุภาพเขียนสีเขายะลา

5)การออกประกาศดังกล่าว เป็นเพียงกลเล่ห์ฉลของกรมศิลปากรที่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโรงโม่หินหรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากตาม ม.17 วรรคท้าย แห่ง พรบ.แร่2560 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ” ดังนั้น การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา จึงมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นอื่นไปได้ นอกจากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงโม่หินหรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่จะมิต้องเข้าเงื่อนไขต้องห้ามตามกฎหมายแร่ข้างต้น นั่นเอง

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงไม่อาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ใช้อำนาจโดยย่ามใจได้ และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่พึงประสงค์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งกรมศิลปากรได้ สมาคมฯจึงต้องนำความมายื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดอดีตอธิบดีกรมศิลปากรคนดังกล่าว และหลังจากนี้หากกรมศิลปากรไม่ทบทวนประกาศดังกล่าวสมาคมฯจะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

related