svasdssvasds

ย้อนรอย "คดีค่าโง่โฮปเวลล์" หลังศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดสั่งจ่าย 12,000 ล้าน

โครงการโฮปเวลล์ถือเป็นคดีใหญ่อีกคดีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ เสียค่าโง่ โดยมีต้นเหตุจากการทำสัญญาที่เสียเปรียบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน เราจะพาย้อนไปดูความเป็นมาของโครงการนี้

โครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง โดยบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ เป็นผู้ชนะการประมูล ลงนามสัญญากับรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 อายุสัมปทาน 30 ปี

โดยโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี แผนงานการก่อสร้าง เป็น 5 ระยะ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร

ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และมักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร

ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร

และช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร

แม้จากสัญญาฝ่ายรัฐจะดูเหมือนได้เปรียบ แต่สิ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบเอกชนมาก คือ สัญญากำหนดให้ผู้ลงทุนบอกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ขณะที่การก่อสร้างโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ และปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุว่า โครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้ โฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

ต่อมาคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติบอกยกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 หลังบริษัทหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้า 13.77 % จากแผนงานที่ควรจะมีความคืบหน้า 89.75% โดยให้โครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้บริษัท

BreakingNews: ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดสั่ง “คมนาคม – รฟท.” จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 12,000 ล้านบาท

related