svasdssvasds

เร่งควบคุม! "โรคหัด" 4 จังหวัดภาคใต้ พบผู้ป่วยสูงสุด

เร่งควบคุม! "โรคหัด"  4 จังหวัดภาคใต้ พบผู้ป่วยสูงสุด

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤศจิกายน 2561 มีจำนวนผู้ป่วยโรคหัดสูงถึง 1,515 ราย มีผู้เสียชีวิต 12 ราย จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา อัตราผู้ป่วยสูงสุด

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน สถาบันพัฒนานวัตกรรมด้านระบบริการสุขภาพชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา และ สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 12 ดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคหัดใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤศจิกายน 2561 มีจำนวนผู้ป่วยโรคหัดสูงถึง 1,515 ราย มีผู้เสียชีวิต 12 ราย

ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็ก 0 -4 ปี รองลงมา 5-9 ปี และ 10-14 ปี โดย 4 จังหวัดดังกล่าวมีอัตราผู้ป่วยสูงสุด และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้รับวัคซีนและได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

โดยขอให้ อสม.ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้

1.เพื่อให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการระบาด การป้องกันโรคหัด

2.ค้นหาตรวจสอบเด็กที่ไม่เคยรับวัคซีนหรือรับไม่ครบตามเกณฑ์ให้มารับวัคซีนโรคหัดที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน พร้อมสังเกตบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากมีอาการ ไข้สูง ไอ มีผื่นแดงตามหลังหู ไรผม ใบหน้า ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจคัดกรองให้การรักษาได้อย่างถูกวิธี และให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กคนอื่น หากต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังเยี่ยมผู้ป่วย พร้อมทั้งติดตามผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคหัดให้มารับวัคซีนภายใน 3 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

3.เฝ้าระวังให้ความรู้ คำแนะนำแก่อาสาสมัครประจำครอบครัวในการดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ถูกต้องให้ห่างไกลโรคติดต่อ

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันโรคที่ง่ายที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยการกินร้อน กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ปรุงอาหารด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่เก็บไว้นานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนนำมากินอีกครั้ง และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ใช้ช้อนกลาง ในการร่วมรับประทานอาหารเพื่อช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อผ่านทางน้ำลาย ไม่ให้แพร่กระจายระหว่างบุคคลได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคผ่านทางน้ำลายของผู้กินลงไปปนเปื้อนในอาหาร และยังเป็นการสร้างพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้อง ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้

 

related