svasdssvasds

หนี้เงินกู้ “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่ “หนี้สาธารณะ”

หนี้เงินกู้ “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่ “หนี้สาธารณะ”

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 มีนาคม ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามหนี้สาธารณะว่า การไม่นับหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการปรับแต่งตัวเลขในเชิงเทคนิค ซึ่งหนี้เงินกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล

เรื่องนี้ ทำให้ นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) และโครงการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการก่อหนี้สำหรับโครงการดังกล่าวข้างต้นจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับการอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น

ในเอกสารรายละเอียดของ กระทรวงการคลังได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน แนวทางในการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจน ของรัฐวิสาหกิจทั้ง  4 แห่ง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1) กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีรายได้เพียงพอในการชำระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่สาเหตุที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เนื่องจากมีหนี้ที่ครบกำหนดในวงเงินที่ค่อนข้างสูง ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำแนวทางในการกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปี

2) กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ติดลบ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ (Public Service) และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการหนี้และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

หนี้เงินกู้ “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่ “หนี้สาธารณะ”

สำหรับประเด็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สบน. ขอเรียนว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ได้กำหนดขอบเขตของหนี้สาธารณะให้ไม่รวมหนี้เงินกู้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Operation) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เนื่องจากเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจ (Financial Intermediary) ที่มีการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

นอกจากนี้ หนี้เงินกู้ของ ธปท. ไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะมาตั้งแต่มีกฎหมายหนี้สาธารณะครั้งแรก ซึ่งในการแก้ไขนิยามหนี้สาธารณะในปี 2560 นั้น เป็นไปเพื่อสร้างความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการเดิมของกฎหมายในการไม่นับรวมหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะเช่นกัน ประกอบกับเพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดให้มีการติดตามสถานะหนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งรวมถึงหนี้ของ ธปท. และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและคณะรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ

การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่ปรับปรุงนี้ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากภายนอกเข้าร่วมในการพิจารณาอย่างรอบคอบ โปร่งใส โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประโยชน์สูงสุดที่สาธารณะจะได้รับ ความสามารถในการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง

กระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และแผนการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการพัฒนาและโครงการ โดยมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืนของโครงการ แล้วจัดทำเป็นรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะและคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนและประเทศจะได้จากโครงการ

related