svasdssvasds

อดีตอุปนายกฯ สมาคมนักข่าวฯ แนะแนวทางสื่อมวลชนไทย ควรมีแนวทางใช้ AI อย่างไร

อดีตอุปนายกฯ สมาคมนักข่าวฯ แนะแนวทางสื่อมวลชนไทย ควรมีแนวทางใช้ AI อย่างไร

อดีตอุปนายก สมาคมนักข่าวฯ ออกแนวทางในการใช้ AI เพื่อเข้ามาช่วยทุ่นแรงในการทำงานให้สะดวกและลดความผิดพลาดในการทำงานมากขึ้น

ธีรนัย จารุวัสตร์ อดีตอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุในบทความว่า "เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI) กำลังพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน Generative AI ที่สามารถประมวลภาพและข้อความ ตามที่ผู้ใช้ป้อนโจทย์ (prompt) ดังที่ผู้อ่านหลายท่านคงได้เห็นตัวอย่างมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Bard, Dall-e, Stable Diffusion ฯลฯ 

ประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ในด้านการ “ทุ่นแรง” และช่วยเหลือมนุษย์ให้ทำงานสะดวกมากขึ้น ได้ทำให้ AI แพร่หลายไปยังอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท รวมถึงสื่อมวลชนด้วย 

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี AI เข้ามามีส่วนในการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ได้นำไปสู่ปัญหาหลายประการที่กระทบต่อหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง

ดังที่เห็นตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศ เช่น ข้อมูลผิดพลาด คำนวนเลขผิดพลาด ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ลอกเลียนเนื้อหาจากสำนักข่าวอื่นๆ โดยไม่ใส่ที่มาอย่างชัดเจน เป็นต้น 

ปัญหาต่างๆ ข้างต้น ได้กระตุ้นให้สำนักข่าวและองค์กรวิชาชีพสื่อในหลายประเทศ จัดทำ “แนวทางปฏิบัติ” สำหรับการใช้ AI ภายในองค์กรด้านสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมการใช้ AI ในเชิงสร้างสรรค์ โดยไม่สร้างความเสียหายต่อผู้อ่าน หรือกระทบต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ

แนวทางสำหรับนักข่าวใช้ AI

เท่าที่ผู้เขียนทราบ ยังไม่มีสำนักข่าวหรือองค์กรวิชาชีพสื่อใดๆ ในประเทศไทยประมวลแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ AI สำหรับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะ AI ยังไม่ได้เป็นประเด็นแพร่หลายหรือเร่งด่วนในสื่อไทย อาจจะด้วยข้อจำกัดทางภาษาของเทคโนโลยี AI (โดยเฉพาะประเภทที่ทำงานด้านการเขียน) 

แต่ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี AI ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว การใช้ AI ในธุรกิจสื่อมวลชนไทยอาจจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้ ผู้เขียนจึงเชื่อว่า วงการสื่อไทยควรนำเอากรณีศึกษาในสื่อต่างประเทศมาเป็น “อุทธาหรณ์” และการวางแนวปฏิบัติด้าน AI ไว้เนิ่นๆ จะได้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

สำหรับสื่อมวลชนที่สนใจ ผู้เขียนได้รวบรวมตัวอย่างแนวทางปฏิบัติจากสำนักข่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนในต่างประเทศไว้จำนวนหนึ่ง และประมวลเป็น “แนวทางปฏิบัติต้นแบบ” คร่าวๆ สำหรับสื่อมวลชนไทย

การใช้ AI ต้องมีการควบคุมจากมนุษย์ทุกครั้ง

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกี่ยวกับ AI ในสื่อมวลชน คือการใช้ AI ผลิตเนื้อหาข่าวหรือสกู๊ป และเผยแพร่สู่สาธารณชนทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบจากกองบรรณาธิการ ทำให้ชิ้นข่าวที่เผยแพร่ออกไปเต็มไปด้วยความผิดพลาด ภาษาที่ชวนสับสน หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

แนวทางการใช้ AI ในงานข่าว

การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและสะเพร่าแล้ว ยังขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่ออย่างชัดเจนอีกด้วย เพราะบรรณาธิการย่อมมีหน้าที่ตรวจทานต้นฉบับให้ข้อมูลต่างๆ ถูกต้อง ก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังผู้เสพข่าว ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี AI ต้องมีการควบคุมจากมนุษย์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการร่าง เขียน ตรวจตัวสะกดหรือไวยากรณ์ คำนวนเลข วางโครงเรื่อง ฯลฯ

นอกจากนี้ สำนักข่าวควรมีขั้นตอนการขออนุญาตในการใช้ AI เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำโดยพลการของบุคคลากร เช่น การเผยแพร่ชิ้นงานที่มี AI เกี่ยวข้องต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าข่าวหรือบรรณาธิการทุกครั้ง เป็นต้น 

หลีกเลี่ยงภาพประกอบเนื้อหาข่าวที่ทำขึ้นโดย AI

ภาพที่ทำขึ้นจาก AI อาจจะมีความสร้างสรรค์และสวยงาม แต่สำนักข่าวไม่ควรใช้ภาพในลักษณะดังกล่าวมาเป็นรูปประกอบเหตุการณ์ในข่าว (ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวก็ตาม) เพราะภาพประกอบเนื้อหาข่าวในวิชาชีพสื่อนั้น ควรสะท้อนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากใช้ภาพที่ AI ทำขึ้น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดสำหรับประชาชนที่อ่านหรือรับชมข่าวสารได้ 

ในกรณีข่าวที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพประกอบของเหตุการณ์ เช่น บทความ สกู๊ป หรือคอลัมน์ สำนักข่าวควรเลือกใช้ภาพที่ถ่ายหรือวาดโดยมนุษย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพหรือทีมถ่ายคลิปของสำนักข่าวตนเอง หรือการเลือกซื้อภาพจากโฟโต้เอเยนซี่ หรือคลิปวิดิโอจากสำนักข่าวอื่นๆ หรือจ้างศิลปินวาดภาพประกอบ แทนที่จะใช้ภาพที่ทำขึ้นจาก AI เพื่อเป็นการสนับสนุนคนทำงานในวิชาชีพสื่อและศิลปิน 

การใช้ AI ควรเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ด้านการสาธิต

เนื่องจาก AI ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะความถูกต้องของข้อมูล และการใช้ต้นฉบับที่อาจจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สำนักข่าวควรใช้ AI เพื่อจุดประสงค์ด้านการสาธิตเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใช้เพื่อแสดงศักยภาพของ AI หรือใช้แสดงตัวอย่างให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจว่า AI ทำงานอย่างไร แทนที่จะใช้ AI ในการรายงานข่าวเป็นกิจลักษณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิด 

เนื้อหาหรือภาพใดๆ ที่ทำขึ้นโดย AI ต้องระบุอย่างชัดเจน

เพื่อความโปร่งใสต่อสาธารณชน หากมีการใช้เนื้อหาหรือภาพใดๆ ที่ทำขึ้นโดย AI สำนักข่าวนั้นๆ จะต้องแสดงข้อความชี้แจงอย่างชัดเจน (disclaimer)

กองบรรณาธิการต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการใช้ AI

ในวิชาชีพสื่อมวลชน หากการรายงานข่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น กองบรรณาธิการย่อมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ฉันใดฉันนั้น หากเกิดความเสียหายใดๆ ที่มาจากการใช้ AI ของสำนักข่าว ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของข้อมูล หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ต้นสังกัดย่อมไม่สามารถปัดความรับผิดชอบเช่นกัน 

ดังนั้น กองบรรณาธิการควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่การใช้ AI ของตนอาจก่อให้ความเสียหายได้ และต้องมีบุคคลที่รับผิดชอบต่อการใช้ AI อย่างชัดเจน เช่น บรรณาธิการ  

ไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวในการฝึกฝน AI

เทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจากการที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสามารถ “เทรน” หรือฝึกฝน AI ให้รับรู้บริบทและมีความสามารถด้านการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนควรตระหนักต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว และไม่ควรใช้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่มีความอ่อนไหวในการฝึกฝน AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งข่าวที่ได้มาในเชิงปิดลับ (off record) เพราะไม่แน่ชัดว่า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้งานหรือจัดเก็บจากผู้ผลิต AI อย่างไรบ้าง 

พึงระลึกว่า AI ไม่สามารถแทนที่คนทำงานได้

ถึงแม้เทคโนโลยี AI จะช่วยให้มนุษย์บรรลุภารกิจหลายรูปแบบอย่างสะดวกและราบรื่นขึ้น แต่ AI มีข้อจำกัดด้านศักยภาพจำนวนมาก และไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องใช้ทักษะด้านวารสารศาสตร์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง การเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ การสัมภาษณ์แหล่งข่าวและใช้ภาษาที่เหมาะสม ตลอดจนการวิเคราะห์และเข้าใจบริบทสภาพสังคมที่ซับซ้อน ดังนั้น สำนักข่าวพึงตระหนักว่า คนทำงานในวิชาชีพเป็น “ทรัพยากร” ที่สำคัญที่สุด ซึ่งไม่ควรถูกสามารถแทนที่ด้วย AI เพียงอย่างเดียว

 

ที่มา : สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Pic : Unsplash

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related