svasdssvasds

เตรียมรับมือ ! ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67

เตรียมรับมือ ! ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ชี้ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67 หลังพบมิ.ย.66 ร้อนสุดในรอบ 174 ปี

โดยรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Witsanu Attavanich” ระบุว่า #อัพเดทน้ำท่วมน้ำแล้ง (16 ก.ค. 66) เสี่ยงเอลนีโญระดับรุนแรง!! มิ.ย. 66 ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โอกาสเกิดเอลนีโญเฉียด 100% และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67 โดยจะทำจุดสูงสุดช่วง พ.ย.-ธ.ค.66  ใต้ เหนือตอนล่าง และกลางตอนบน ต้องเตรียมรับมือภัยแล้งและฝุ่นพิษให้ดี ลุ้นฝนตกเหนือเขื่อนเหนื่อยเพื่อเติมน้ำที่เหลือน้อย อากาศจะร้อนกว่าปกติกันจากนี้ถึงอย่างน้อย เม.ย. 67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ทางองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า มิ.ย. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.05°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.5°C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0°C!! (ภาพที่ 2) และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Ocean) ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.92°C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน (Land) ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.35°C

ไทยเสี่ยงภัยแล้งรุนแรง

ขณะเดียวกันองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) (ภาพที่ 3) รายงานว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้นเฉียด 100% ตามที่คาดไว้และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67! (ภาพซ้ายแท่งสีแดง) และงานวิจัยจาก CPC (NOAA) คาดว่ากำลังของเอลนีโญระดับปานกลางขึ้นไป (>1.0 °C) มีความน่าจะเป็นเกิน 70% ขึ้นไป ตั้งแต่ช่วง ส.ค.66-ม.ค.67 (ภาพขวาแท่งสีม่วง) และกำลังของเอลนีโญระดับรุนแรง (>1.5 °C) มีความน่าจะเป็นสูงสุดเท่ากับ 52% ช่วง ก.ย. – พ.ย. 66 (ภาพขวาแท่งสีแดงเข้ม)

และล่าสุด (15 ก.ค. 66) ที่ผ่านมา International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ภาพที่ 4) ได้พยากรณ์ว่าฤดูฝนปี 66 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 65 อย่างมาก โดยช่วง ส.ค.-ต.ค.66 ภาคใต้และตะวันออกตอนล่าง (ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทราตอนล่าง สระแก้วตอนล่าง) ปริมาณฝนจะลดลงเป็นเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติจากเดิมที่คาดว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย (พื้นที่สีเขียว) ในภาคเหนือตอนบน (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) อีสานบางพื้นที่ (บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์) และภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี สระแก้วตอนบน ฉะเชิงเทราตอนบน) ภาคกลาง (สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี)

เตรียมรับมือ ! ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67

สำหรับช่วง ก.ย.-พ.ย.66 ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชตอนบน ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีน้ำตาลและเหลือง) หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งเดิมในต้นปีนี้ มีโอกาสกลับมาเผชิญกับฝนน้อยกว่าปกติและภัยแล้งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ต้องระวังให้มาก ขณะที่ช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ปริมาณฝนจะเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในทุกภูมิภาค และท้ายสุดช่วง พ.ย.66-ม.ค.67 ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่นครศรีธรรมชาติลงมา และภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน (พื้นที่สีเหลือง)

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 17% ของความจุ เขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วง (เขื่อนภูมิพล 17% เขื่อนสิริกิติ์ 8%เขื่อนสิรินธร 12% เขื่อนอุบลรัตน์ 10% เขื่อนศรีนครินทร์ 12% เขื่อนวชิราลงกรณ 11%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีนี้ ดังนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆ ไม่งั้นปี 1-2 ข้างหน้าวิกฤติแน่ ต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ

เตรียมรับมือ ! ไทยเสี่ยง “เอลนีโญ” ระดับรุนแรง ! ลากยาวอย่างน้อยถึง เม.ย.67

อย่างไรก็ตามเตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ อากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีตสโตรก หรือโรคลมแดดกันด้วยนะครับ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกันนะครับ เรามีน้ำเหลือน้อยมาก แต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนาน ขุดบ่อจิ๋วและสระสาธารณะใหม่เพิ่ม ขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและช่วยลดน้ำท่วมได้ อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ ต้องลดการปลูกข้าวนาปรังอย่างจริงจัง เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มีและทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ

 

 

related